ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sartra SForester ได้โพสต์ภาพนิ่งและภาพวิดีโอ ที่บันทึกจากกล้องดักถ่ายภาพ NCAPS เป็นภาพของสัตว์ป่า เช่น เก้ง, กวาง, ลิง, หมูป่า, แมวดาว, เลียงผา และเสือโคร่ง ใกล้กับทางเชื่อมอุโมงค์ระหว่างป่าอุทยานแห่งชาติทับลานกับป่าอุทมยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก อุโมงค์เชื่อมผืนป่าดงพญาเย็นแห่งแรกของประเทศ ที่เชื่อมถนนสาย 304 (ปักธงชัย –นครราชสีมา) ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และสัตว์ป่าที่สร้างความยินดีแก่บรรดานักอนุรักษ์อย่างมากคือ "เลียงผา" ที่ปรากฎตัวให้ได้เห็น
โดยข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า เลียงผาตัวนี้ ปรากฎตัวให้เห็นบริเวณทางข้ามเขตแดนจากป่าทับลาน สู่ป่าเขาใหญ่ ในช่วงค่ำของวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
ด้านนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบุคคลผู้โพสต์ภาพ - ข้อความในชื่อ Sartra SForester เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการก่อสร้างขยายผิวการจราจร ของกรมทางหลวงผ่านบนถนนสาย 304 (ปักธงชัย –นครราชสีมา) จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมได้มีการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมผืนป่า ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับ อุทยานแห่งชาติทับลาน มรดกโลก เพื่อให้สัตว์ป่าเดินผ่านด้านบน นับเป็นอุโมงค์เชื่อมผืนป่าแห่งแรกของประเทศไทย
ซึ่งก่อนหน้ามีการพบสัตว์ป่ารอข้ามฝั่งจากอุทยานแห่งชาติทับลาน มุ่งหน้าข้ามไป อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยสามารถบันทึกภาพได้จากกล้องดักถ่าย NCAPS เป็นภาพของสัตว์ป่า เช่น เก้ง,กวาง,ลิง,หมูป่า,หมาจิ้งจอก, เลียงผา และ เสือโคร่ง เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในหน้าแล้งนี้จะมีสัตว์ป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ข้ามไปยังป่าเขาใหญ่ เพื่อหากินน้ำ และว่ายข้ามน้ำไปยังแหล่งน้ำในลำพระยาธาร หรือไปหาคู่ผสมพันธุ์ต่อไป
สำหรับอุโมงค์เชื่อมผืนป่าดงพญาเย็นนี้เชื่อมระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับ อุทยานแห่งชาติทับลานมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นอุโมงค์แห่งแรกในประเทศไทย ในการขยายถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ระยะทาง 3 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) งบประมาณ 1,319.257 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 17 ก.ค. 2558 ขยายสัญญาอีก 2 ครั้ง แล้วเสร็จเมื่อ 26 ม.ค. 2562 รวมระยะเวลา 1,290 วัน ประกอบด้วย อุโมงค์คู่ช่วงยาว 250 เมตร ห่างออกไปประมาณ 100-200 เมตร เป็นอุโมงค์คู่ช่วงที่ 2 ยาวอีก 180 เมตร มีขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ด้านบนอุโมงค์ปลูกต้นไม้ให้สัตว์ป่าเดินข้ามไปมา รวมทั้งติดรั้วกั้นด้านล่างอุโมงค์ไม่ให้รถเฉี่ยวชนสัตว์ป่า ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเป็นสะพานยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ยาว 570 เมตร โดยให้รถยนต์ใช้ทางยกระดับและปลูกต้นไม้ให้สัตว์ป่าลอดใต้ทางยกระดับดังกล่าว