ไม่พบผลการค้นหา
ไทยติดเชื้อเพิ่ม 15,242 ราย 'อนุทิน' ยันไม่เกินคาดหมาย ไม่รุนแรง เหตุได้รับวัคซีน ด้าน 'สาธิต' มั่นใจมีเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดงเพียงพอแม้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เตรียมเสนอ ศบค.ปรับหลักเกณฑ์ตรวจ ATK ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัวที่บ้าน 7 วัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยวันนี้ (11 ก.พ. 65) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 15,242 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 15,060 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 182 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 337,680 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65) ขณะที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 8,955 รายรวมหายป่วยสะสม 258,841 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 111,393 ราย และเสียชีวิต 23 ราย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. ในวันนี้ (11 ก.พ.) ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการรายงานสถานการณ์ และที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรับมือโควิดได้ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการหนักและเสียชีวิตยังคงเดิม การครองเตียงและอุปกรณ์การช่วยหายใจไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามที่ประเมินไว้อยู่แล้ว เพราะการแพร่เชื้อของโอไมครอนเร็ว แต่ไม่แรง แต่มีคนที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก ทั้งพื้นฐานและบูสเตอร์ ทำให้มีภูมิต้านทานและสามารถรับมือกับโควิด -19 ได้ หากติดก็มีอาการไม่รุนแรง

อนุทิน ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงถึงวันนี้ถึง 15,000 คน พูดไม่ได้ว่าพีคที่สุด เนื่องจากเกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของประชาชน เนื่องจากไม่ได้มีการล็อกดาวน์ หรือมีข้อห้าม เว้นการเปิดผับ บาร์เท่านั้น ซึ่งพยายามจะให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร เพราะชัดเจรว่าถ้าเปิดจะทำให้ผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ทั้งหมดต้องดูสถาการณ์ ว่าสุดท้ายการติดเชื้อไม่ได้บ่งชี้ว่า จะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต วัคซีนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทึกอย่างต่องทำคู่ขนาดและติดตาม ซึ่งตนหวังว่าเวลาที่ผ่านไปจะมีวัคซีนที่เกิดประสิทธิภาพ สามารถชี้วัดและกำหนด การดำเนินการได้ ขณะนี้ก็ค่อยๆ ปรับปรุงสถานการณ์ ช่วงนี้ต้องใช้ชีวิตแบบ Covid Free Setting ให้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ อนุทิน ระบุว่า ตนลำบากใจที่จะบอกว่า เป็นผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนหรือเดลต้า เพราะผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้รับวัคซีน แต่ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิต WHO กำหนดให้บันทึกว่าเสียชีวิต ด้วยโควิด แต่บางทีอาจจะเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว อย่าบอกว่า เชื้ออะไรทำให้เสียชีวิตหรือไม่ แต่รู้ว่าโรคโควิดติดเชื้อด้วยการสัมผัสและการเดินทาง ไม่ใช่แพร่ในอากาศ


เตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการกำชับ อสม.ดูแลประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่หมู่บ้านต่างจังหวัด ว่า การดูแลเรื่องนี้คงไม่เฉพาะ อสม.แต่ต้องใช้หลักป้องกันที่ต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้สามารถฉีดได้กว่า 20% แล้ว หากเร่งฉีดวัคซีนและประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ คือไม่ติดเชื้อหรือหากติดก็มีอาการน้อย ซึ่งดูจากศักยภาพของเตียงที่ประเมินทุกวันศุกร์ ถึงแม้ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครจะมีและตัวเลขภาพรวมที่มีทิศทางสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีความพร้อม การบริหารจัดการเตียง ในระดับสีเหลืองและสีแดงที่ยังมีเตียงว่างอยู่ ส่วนเตียงในระดับสีเขียวก็ไม่ต้องเป็นห่วง

ซึ่งการประชุม ศบค.วันนี้ (11 ก.พ.) จะปรับเกณฑ์การตรวจ ATK มาตรการควบคุมผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน ให้ ศบค.พิจารณา ส่วนการทำงานของ อสม.ในต่างจังหวัดหากพบประชาชนมีการติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงก็จะพยายามให้มีการกักตัวที่บ้านและให้ อสม.ให้คำแนะนำถึงมาตรการต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขและจะเร่งให้ อสม.หาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มีอยู่จำนวนมาก ให้มาฉีดวัคซีนเข็ม1และเข็มบูสเตอร์ให้ได้มากที่สุด

ส่วนเทศกาลวันวาเลนไทน์มีความเป็นห่วงว่าจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ สาธิต กล่าวว่า กิจกรรมที่มีประชาชนมารวมตัวกันทั้งกิจกรรมวันวาเลนไทน์และวันสงกรานต์ ซึ่งจากการประชุมร่วมกับนักคณิตศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีอัตราสูงขึ้นติดต่อกัน จึงต้องระมัดระวังให้ดีและต้องปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด สิ่งที่กังวลคือจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะทำให้มีตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย และอาจจะทำให้มีการเสียชีวิตตามมา ดังนั้นหากลดจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1และเข็มที่ 3 ลงได้ จะทำให้ช่องว่างจำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลง