ไม่พบผลการค้นหา
CEO บริษัทบัตรเครดิตสัญชาติอเมริกัน ทดลองลดรายได้ของตัวเองลง เพื่อนำไปปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำให้กับพนักงาน 120 คน รวมเป็นคนละ 2.36 ล้านบาทต่อปี ผ่านไป 5 ปี ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกิดคาด

บทความจาก BBC ซึ่งเขียนโดย สเตฟานี เฮการ์ที บอกเล่าเรื่องราวของมหาเศรษฐีหนุ่มชื่อ แดน ไพรซ์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Gravity Payments บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินประมวลผลบัตรเครดิต ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ

ไพรซ์เล่าว่าเขาก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี เมื่อเวลาผ่านไปเขาประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ จนมีลูกค้ามากกว่า 2,000 คน และในวัยเพียง 31 ปีเขาก็กลายเป็นมหาเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาด้วยลำแข้งของตัวเอง และบริษัท Gravity Payments ก็มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน

ในปี 2015 แม้ไพรซ์จะมีรายได้ต่อปีมากถึง 1.1 ล้านดอลลาร์ หรือราว 34.72 ล้านบาท เขากลับพบว่าตัวเองไม่มีความสุขเลยเมื่อคิดถึงสถานการณ์ที่พนักงานในบริษัท 120 คนของเขาต้องเผชิญอยู่ ซึ่งเขารู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของพนักงานทุกคน

ไพรซ์เล่าให้ สเตฟานี เฮการ์ที ผู้สื่อข่าว BBC ฟังต่อ โดยยกกรณีที่ทำให้เขามองโลกเปลี่ยนไปว่า วันหนึ่งระหว่างที่เขากำลังปีนเขาแคสเคดในนครซีแอตเทิลกับเพื่อนสนิทที่เคยทำงานรับใช้ชาติในกองทัพสหรัฐฯ อย่าง 'วาแลรี' อยู่ เธอกล่าวว่าเธอกำลังตกอยู่ในสถานการร์ลำบากเนื่องจากเงินเดือนที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน และค่าเช่าบ้านรายเดือนก็เพิ่งจะปรับเพิ่มอีก 200 ดอลลาร์

คำบอกเล่านั้นทำให้ไพรซ์ประหลาดใจมากเพราะวาแลรีคือคนที่ขยันทำงานอย่างมาก เธอทำงานถึง 2 อาชีพในเวลาเดียวกัน นับรวมแล้วเธอทำงานมากถึง 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สร้างรายได้ปีละประมาณ 40,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.26 ล้านบาท แต่รายได้เท่านี้ไม่สามารถซื้อบ้านดีๆ สักหลังในซีแอตเทิลอยู่ด้วยซ้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของตัวเองทำให้ไพรซ์ตระหนักว่า พนักงานจำนวนมากต้องอดอยากแม้ทำงานหนัก หลายคนถูกปลด ขณะที่หลายคนก็ถูกเอาเปรียบ เพื่อที่ว่ากลุ่มคนรวยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศจะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายในเพนต์เฮาส์หรูราคาหลายร้อยล้านบาทใจกลางนิวยอร์กได้

ข้อมูลทางสถิติชี้ว่า ก่อนปี 1995 คนจนที่สุดครึ่งประเทศในสหรัฐฯ ได้รับส่วนแบ่งทางความมั่งคั่งของประเทศมากกว่า 'กลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์' ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่รวยที่สุดในประเทศ แต่หลังจากปีนั้นเป็นต้นมา กลุ่ม '1 เปอร์เซ็นต์' ได้รับส่วนแบ่งทางความมั่งคั่งของประเทศมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดครึ่งประเทศ นอกจากนั้น ในปี 1965 บรรดา CEO ในสหรัฐฯต่างทำเงินได้มากกว่าพนักงานทั่วไปราว 20 เท่า แต่ในปี 2015 พบว่าพวกเขาทำเงินสูงกว่าพนักงานทั่วไปมากถึง 300 เท่า

งานวิจัยพลิกชีวิต

นอกจากความเหลื่อมล้ำทั้งหมดที่เกิดขึ้น และประสบการณ์ตรงของเพื่อนสนิท ไพรซ์ได้เรียนรู้หลักการที่น่าทึ่งจากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของ 'แดเนียล คาห์เนมาน' และ 'อันกัส เดทัน' นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้สร้างสรรค์งานวิจัยเกี่ยวกับ "ชาวอเมริกันจำเป็นต้องใช้เงินเท่าใดจึงจะมีความสุข" หลังจากได้อ่านงานวิจัยนี้อย่างละเอียด ไพรซ์เริ่มทำตามทันที โดยการคำนวณจากสูตรที่งานวิจัยระบุจนสุดท้ายแล้วเขาหาข้อสรุปออกมาได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พนักงานของเขาต้องการคือ 70,000 ดอลลาร์ หรือราว 2,367,000 บาทต่อปี จึงจะสามารถมีความสุขกับชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่เขาจะต้องยอมลดรายได้ของตัวเองลงปีละ 1 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ไพรซ์ยังต้องนำบ้านทั้งสองหลังของตัวเองเข้าจำนอง และปล่อยเช่าใน Airbnb ยอมเสียหุ้น รวมถึงเงินเก็บของตัวเองด้วย และเปลี่ยนไปขับรถธรรมดาๆ จึงจะสามารถเพิ่มฐานเงินเดือนของพนักงานทั้ง 120 คนได้ตามแผน หลังจากนั้นเขาได้เรียกประชุมพนักงานทุกคนพร้อมบอกข่าวดี ไพรซ์คาดว่าเขาจะต้องเห็นสีหน้าดีใจอย่างมากจากพนักงานแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนต่างแสดงความตกใจและตกตะลึงในการตัดสินใจของเจ้านาย

หลังความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น บริษัท Gravity ได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ 5 ปีหลังการประกาศขึ้นค่าแรง จำนวนพนักงานในบริษัทเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว และมูลค่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Gravity เพิ่มจาก 3,800 ล้านดอลลาร์ เป็น 10,200 ล้านดอลลาร์

สิ่งที่เขากลับภาคภูมิใจมากที่สุดกลับเป็นความสุขที่พนักงานในบริษัทได้รับ เห็นได้จากการตัดสินใจมีบุตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยก่อนการปรับฐานเงินเดือนของทุกคนเป็น 70,000 ดอลลาร์ มีเด็กเกิดใหม่จากพนักงานในบริษัทไม่ถึง 2 คน เพราะทุกคนยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะมีบุตร แต่ผ่านไปเพียง 4 ปีครึ่ง ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่มากถึง 40 คน เลยทีเดียว

นอกจากนั้น พนักงานมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทสามารถที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ในเมืองที่มีค่าเช่าแพงติดอันดับต้นๆ ของประเทศอย่างซีแอตเทิล จากเดิมที่สัดส่วนของพนักงานที่สามารถซื้อบ้านได้มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เท่านั้นยังไม่พอ พนักงานในบริษัทยังสมัครใจเก็บเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และพนักงาน 70 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทสามารถปลดหนี้ได้เรียบร้อยแล้ว

ความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ

ความสำเร็จนี้ทำให้ไพรซ์ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนอย่างมาก เขาได้รับจดหมายชื่นชมและให้กำลังใจแบบนับไม่ถ้วน ถึงขั้นที่เคยขึ้นปกนิตยสารดังพร้อมได้รับฉายา "America's Best Boss" แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมีอุปสรรคเสมอ ในช่วงแรกหลังจากที่มีการรายงานข่าวเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงพนักงานของบริษัท Gravity ออกไปสู่สาธารณะ ลูกค้าของเขาเองบางคนกล่าวหาว่านี่คือแผนการทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่หลายภาคส่วนในนครซีแอตเทิลพยายามถกเถียงกันถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของมลรัฐวอชิงตันให้เป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กต่างพากันออกมาต่อต้าน เพราะนั่นจะทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนักจนอาจถึงขั้นขาดทุนจนต้องปิดกิจการ และหนึ่งในผู้ที่ออกมาต่อว่าสิ่งที่ไพรซ์ทำและเรียกเขาว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์' ก็คือ รัช ลิมโบ นักจัดรายการวิทยุผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ไพรซ์ชื่นชอบอย่างมากตั้งแต่วัยเด็ก

ลิมโบ กล่าวว่า เขาหวังให้กรณีการปรับฐานเงินเดือนพนักงานบริษัท Gravity จะถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร MBA เพื่ออธิบายว่าทำไมนโยบายสังคมนิยมแบบนี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะยังไงสิ่งที่ไพรซ์ทำก็ต้องล้มเหลวแน่นอน ขณะที่พนักงานระดับสูงของบริษัท Gravity เอง 2 คนก็ขอลาออกในช่วงต้นเช่นกัน เพราะพวกเขารับไม่ได้ที่เงินเดือนของพนักงานใหม่กระโดดเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันทีในชั่วข้ามคืน ซึ่เขาทั้งสองคนมองว่านโยบายนี้จะทำให้คนทั้งบริษัทขี้เกียจมากขึ้นและไม่มีทางแข่งขันกับบริษัทอื่นได้

แต่ไพรซ์ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เขาถูกกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง

ที่มา: BBC/ The Guardian/ SBS