นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด -19 พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวการติดตามสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึง 7 เม.ย 2563 พบว่า ประเทศไทยยังมีการตรวจหาเชื้ออยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือ เยอรมันนี โดยใช้รายงานที่เป็นทางการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กสธ. โดยกรมควบคุมโรค และรายงานของ worldometers.info ซึ่งอ้างอิงจากเว็ปไซต์ของกรมควบคุมโรค เมื่อ 1 เม.ย 2563 ประเทศไทยมีผลการตรวจเชื้อ 26 คน ต่อ ประชากร 100,000 คน
แต่ต่อมา มีการอ้างอิงข้อมูลการตรวจจาก สปสช. และรายงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ขณะที่เมื่อวันที่ 7 เม.ย 2563 ประเทศไทยมีผลการตรวจ 71,860 ตัวอย่าง คิดเป็น 1,079 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน จะเห็นได้ว่า ระบบรายงานผลการตรวจ มีข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมารายงานอย่างเป็นทางการ ส่วนการรายงานสถานการณ์จากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค 2563 พบว่า ตั้งแต่ 5 เม.ย 2563 ได้มีการแก้ไขรูปแบบของการนำเสนอข้อมูล โดยมีการตัดข้อมูลตัวเลขผลการตรวจผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังที่เหลือ จำนวนผู้ป่วยตรวจไม่พบเชื้อ และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการออก ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการควบคุมโรค แต่ไม่ทราบว่าการไม่รายงานข้อมูลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
ขณะเดียวกันมีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจโรคโควิด 19 ใหม่ โดยให้ตรวจฟรี แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ สปสช.จะไม่สนับสนุนค่าตรวจ ซึ่งบังคับใช้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยห้ามโรงพยาบาลเก็บค่าตรวจ ทั้งนี้ เกณฑ์ใหม่ที่กำหนด มีการจำกัดการตรวจมากขึ้น ต้องมีประวัติเสี่ยง ต้องมีไข้ ร่วมกับมี อาการอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ มีอาการปอดอักเสบ เกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้มีการตรวจน้อยลง และไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยถึง ร้อยละ 85 และจากรายงานการติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิด-19 ใน กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ตั้งแต่เดือน ม.ค - 4 เม.ย 5863 พบว่า มีการติดเชื้อจากภายในบ้าน ถึงร้อยละ 35 ในกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 49 ในต่างจังหวัด หากยังคงไม่มีมาตรการค้นหาผู้ป่วยด้วยการตรวจอย่างเข้มข้น คนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการตรวจ และพร้อมจะแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย ยังยืนยันมาตรการ 21 วันสยบโควิด ที่ได้นำเสนอไปแล้ว คือ ต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อจะต้องได้รับการตรวจทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1) พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจมากขึ้น กลุ่มที่มีประวัติเสี่ยงทุกคนต้องได้รับการตรวจ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ กำหนดเพิ่มอาการให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น สูญเสียการรับกลิ่น (Anosmia) ทั้งนี้ เกณฑ์การตรวจต้องเป็นมาตรฐานเดียว ไม่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา เพื่อสะดวกต่อการแปรผล และนำข้อมูลไปใช้
2) ควรเน้นการตรวจและรายงานผลเฉพาะพื้นที่ เฉพาะจังหวัด เพื่อกำหนดเป้าหมายควบคุมโรคให้จบเป็นรายจังหวัด
3) ระบบรายงานต้อง รายงานการตรวจเชื้อ ครอบคลุมทุกสถานบริการทั้งประเทศ กรณีมีการตรวจโดยสมัครใจเสียค่าใช้จ่าย ต้องมีการรายงานด้วย
4) ควรนำ Rapid Screening Test การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Ab) มาใช้เพื่อความสะดวกเร็ว เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดงบประมาณ
เพื่อให้การควบคุมโรคระบาดโควิด 19 สยบอย่างรวดเร็ว ทุกจังหวัดสามารถเปิดเมือง กลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็ว รัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงควรนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา
“เพื่อไทย”หวั่นรัฐหยุดการแพร่เชื้อช้าทำเศรษฐกิจพัง
ด้านนายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่รัฐยังขาดและควรเร่งกำหนดเป็นนโยบายสำคัญทั่วประเทศ คือ การตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เร็วขึ้น จะได้นำผู้ติดเชื้อมารักษา จะสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ประชาชนและทำให้ควบคุมโรคได้ ดังนั้นรัฐควรกำหนดนโยบายขั้นต้นในเรื่องนี้ คือให้สถานพยาบาลตรวจหาเชื้อในผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอและการรับกลิ่น รับรสไม่ดีทุกคน ส่วนเรื่องมาจากพื้นที่เสี่ยงนั้น ปัจจุบันถือว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐควรเร่งหามาตรการในการหาผู้ที่อาจจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อเพื่อนำตัวเข้ามารักษาเพื่อปกป้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ หากไม่ดำเนินการเช่นนี้หวั่นช่วงปลายปีเมื่อเข้าหน้าหนาวเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจกลับมาแพร่ระบาดอีกได้
นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ต้องกลัวค่าตรวจเชื้อโควิดจะเพิ่มขึ้น เพราะการตรวจหาเชื้อเร็วคือการควบคุมโรคโควิดที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลดีในการป้องกันและรักษาภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะแยกเอาตัวผู้ติดเชื้อออกมารักษาได้เร็ว ค่ารักษาก็ไม่มากและที่สำคัญคือลดการแพร่เชื้อไม่ให้กระจายไปสู่ผู้อื่น การตรวจหาตัวเชื้อซึ่งต้นทุนประมาณ 2 พันบาทเศษ อาจจะเพิ่มการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือ Rapid Test เป็นเบื้องต้นก่อน ซึ่งต้นทุนไม่เกิน 300 บาท จะทำได้มาก ค่าใช้จ่ายน้อยและทราบผลเร็วภายในครึ่งชั่วโมง
“มาตรการรัฐ ที่ออกมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับที่น่าพอใจ ในภาพรวมถือว่าคนไทยให้ความร่วมมือดี โดยมีมาตรการ คือในระยะนี้นอกจากการอยู่บ้าน กินร้อน ช้อนคนละคัน ล้างมือ อยู่ห่างกัน สวมหน้ากากอนามัย แต่รัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวันให้เร็วที่สุด ยิ่งช้าเศรษฐกิจประเทศจะพังไปมากกว่าที่เป็นอยู่”นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :