มวยไท้เก็ก มีที่มาจากวิชาการออกกำลังของนักพรตในลัทธิเต๋า ที่เคยได้รับเชิญไปสอนให้แก่เหล่าองครักษ์ในวังของท่านอ๋องสมัยปลายราชวงศ์ชิง จนกลายเป็นการออกกำลังที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยมีคุณประโยชน์ที่เป็นที่ประจักษ์จนทำให้ในยุคสมัยที่ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเสื่อมความนิยมลงไปมาก มวยไท้เก็กยังเป็นวิชาที่มีคนสนใจฝึกฝนกันทุกเพศทุกวันมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากหลักสูตรมวยไท้เก็ก นอกเวลาของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลของ DPU ที่นอกจากจะเป็นศูนย์สอนภาษาอันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กับ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน (TNU)
สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของสถาบันขงจื่อ DPU คือความเป็นเลิศด้านกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น หมากล้อม , ดนตรี , ศิลปะ และวิทยายุทธจีน ซึ่งสำหรับกิจกรรมวิทยายุทธ ทางสถาบันขงจื่อ DPU ก็ได้จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าร่วมการฝึกฝนไปแล้วมากกว่า 5,000 คน จนสำนักข่าวของทางการจีนได้รายงานข่าวนี้ไปทั่วประเทศจีนเมื่อปีที่ผ่านมา
ในวันนี้ (18 มีนาคม 2567) สถาบันขงจื่อ DPU ได้จัดหลักสูตร ไท่จี๋สหวิทยาการ(Interdisciplinary Taiji 101) ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่หลักสูตรนี้ได้เคยจัดจนเป็นที่นิยมในสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพ
โดยในการจัดที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในครั้งนี้ได้มีนักศึกษาไทยจีน บุคคลภายนอกชาวไทย และชาวต่างประเทศให้ความสนใจ โดยผู้เรียนจะได้เรียนผ่านการนำเสนอที่ทันสมัย นำหลักการของมวยไท่จี๋ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในแง่มุมของ กายวิภาคศาสตร์ , ปรัชญา , จิตศาสตร์ , ศิลปกรรมศาสตร์ ทำให้มวยไท้เก็กได้กลับไปอยู่ในความนิยมของคนที่แสวงหาความลึกซึ้งในวัฒนธรรมโบราณนี้อีกครั้ง
พ.ต.ท. พงศธร รักษาทิพย์ รอง ผกก.ตม.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้เดินทางมาเรียนจากจังหวัดอยุธยา กล่าวว่า “ได้มีโอกาสเรียนมวยไท่จี๋กับผู้สอนของสถาบันขงจื่อ DPU มาก่อน โดยหลังจากที่ได้ฝึกไท้เก็กแล้ว พบว่าได้ประโยชน์ในสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด จากเดิมที่คิดเพียงว่าฝึกมวยไท้เก็กเพียงเพื่อสุขภาพและออกกำลังกาย แต่หลังจากอาจารย์ได้อธิบายหลักการหลายอย่างซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมเคยศึกษามาก่อน ทั้ง เต๋า และ พุทธ ทำให้ยิ่งเรียนยิ่งได้คำตอบในเรื่องของจิตใจ ทำให้ผมสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้าใจ และความเครียดก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ เหตุใดต้องมาไกลขนาดนี้? คำตอบก็คือว่า เมื่อเรียนแล้วก็อยากไปให้สุดจนไม่ไหว ถ้ายังมาได้ก็ยังอยากเรียน จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยทำให้มาไม่ได้”
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ตลอดปีที่ผ่านมาที่หลักสูตร Interdisciplinary Taiji 101 ได้เปิดสอนให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยมีชาวต่างชาติได้แวะเวียนมาลงเรียนวิชานี้กับสถาบันขงจื่อ DPU อย่างต่อเนื่องทั้งชาว อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน โดยในคลาสนี้ Mr.Tom Soerevik ชาวนอร์เวย์ อายุ 65 ปี ผู้ซึ่งฝึกฝนมวยไท้เก็กมากว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อตั้งใจใช้เวลาตลอดหนึ่งสัปดาห์เรียนมวยไท้เก็กที่สถาบันขงจื่อ DPU เพียงอย่างเดียว Mr.Tom ได้กล่าวว่า “หลังจากดูวิดีโอของอาจารย์บนเฟซบุ๊ก ผมมีแรงบันดาลใจในการเดินทางมาประเทศไทย ปรัชญาและสไตล์การฝึกมวยไท้เก็กของอาจารย์นั้นน่าสนใจมาก ซึ่งเป็นเหตุผลในการตัดสินใจมาที่นี่ ความตั้งใจของผมคือการเสริมสร้างความรู้เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจของตนเอง ความรู้แบบนี้ไม่ได้รับการรู้จักอย่างแพร่หลายในยุโรป และผมจะศึกษาเพิ่มเติมอย่างตั้งใจในระหว่างการอยู่ที่นี่”
และที่ขาดไปไม่ได้คือ นักเรียนนักศึกษาไทย-จีนที่สนใจลงเรียนหลักสูตรนี้ ทั้งที่ในภาพจำของคนส่วนมาก มวยไท้เก็กคือมวยคนแก่ เชย ช้า และน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่กลับให้ความสนใจด้วยความคิดที่ต่างกัน
ดังเช่น นายเจิ้งจื้อฮ่าว นักศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวว่า “ ผมสนใจในมวยไท้เก็กมานาน พอได้ยินว่าอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้สืบทอดอย่างเป็นทางการของวิชานี้ก็รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก วันนี้ผมและเพื่อนๆได้เรียนถึงเรื่องหลักการของอินหยาง รู้จักเรื่องการจมชี่ลงไปที่ท้องน้อย ที่สำคัญคือได้สัมผัสประสบการณ์ของหลักการใช้อ่อนสยบแข็งอันเป็นลักษณะเด่นของวิชานี้“
อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ DPU ฝ่ายไทย ผู้สอนและผู้พัฒนาหลักสูตรนี้ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “มวยไท้เก็กนั้น มีความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง โดยใช้หลักการของธรรมชาตินิยม (Naturalism) คือ ปรัชญาของอินและหยางซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับทุกสิ่งที่อยู่แวดล้อมเราได้หมด การเรียนการสอนของเราจึงเน้นย้ำไปที่การทำอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการเหล่านี้ และนำไปต่อยอดกับประสบการณ์เดิม เพื่อปรับแต่งการใช้ชีวิต วิธีคิด และในการทำงาน ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมและสมดุลของทุกคนนั้นไม่เท่ากัน แต่ทุกคนสามารถนำปรับใช้จนถึงจุดที่ตนเองพอใจได้ การเรียนการสอนของเราจึงไม่เน้นย้ำไปที่การลอกเลียนแบบให้เกิดความเหมือน แต่เน้นการพัฒนาไปตามจุดเด่นและความสนใจของผู้เรียน โดยไม่เสียหลักการเดิม อันเป็นแก่นของศาสตร์และศิลป์ทุกชนิด”