ไม่พบผลการค้นหา
'เฟด' ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 0 - 0.25 พร้อมเตรียมเงิน 22 ล้านล้านบาท เข้าซื้อทั้งตราสารหนี้และตราสารการเงินในอสังหาริมทรัพย์ ย้ำจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดการเงิน

ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) แถลงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมที่ร้อยละ 1 - 1.25 เป็นร้อยละ 0 - 0.25 พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 22 ล้านล้านบาท ในการเข้าซื้อตราสารหนี้และตราสารการเงินที่ผู้ซื้อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ เฟด ยังออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยการยืมฉุกเฉินลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 พร้อมขยายระยะเวลาของยอดเงินกู้เป็น 90 วัน เพื่อตอบสนองตลาดการเงินที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน

อีกทั้ง เฟด ยังร่วมพูดคุยกับธนาคารกลางต่างประเทศของอีก 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ธนาคารกลางของญี่ปุ่น ธนาคารกลางของแคนาดา ธนาคารกลางของอังกฤษ และธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมตกลงที่จะให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีเพียงพอโดยคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เกือบเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 84 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดจะไม่ขาดสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในต่างประเทศ

'เจโรม โพเวลล์' ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ชี้ว่า มาตรการที่ออกมาของเฟดเป็นแนวนโยบายที่จริงจัง และไม่ได้ใช้แค่เพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องสภาพคล่องด้วย พร้อมย้ำว่า มาตรการเหล่านี้จะยังคงถูกบังคับใช้ "จนกว่าสภาพเศรษฐกิจจะแสดงความเข้มแข็งและกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง" 

โพเวลล์ ยังย้ำในแถลงการณ์ว่าเฟด "เตรียมพร้อมทุกเครื่องมือที่จะใช้สนับสนุนกระแสการเคลื่อนไหวของเครดิตทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสนับสนุนเป้าหมายการข้างงานและการสร้างความมั่นคงให้กับราคาสินค้า"

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ของเฟด เกิดขึ้นไม่นานภายหลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ออกมาประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน รวมถึงบริษัทหลายแห่งเริ่มปรับใช้นโยบายการทำงานจากที่บ้าน ทั้งยังมีกระแสความตื่นตระหนกของประชาชนที่เริ่มกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นหลายคนมองว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีจะเข้าสู่การถดถอย 

'เดียน สวองค์' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทบัญชี แกรนท์ ทอร์รทัน กล่าวว่า ความพยายามของเฟดที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางฯ ต้องการป้องกันไม่ให้วิกฤตสุขภาพกลายเป็นวิกฤตการเงิน 

ด้าน 'ไซมอน พอตเตอร์' ผู้เชี่ยวชาญตลาดของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ชี้ว่า "เฟดก็ทำทุกอย่างที่พวกเขาจะทำได้แล้วด้วยความรวดเร็ว ในฐานะธนาคารกลางที่ไม่ขึ้นกับฝั่งใด ด้วยเครื่องที่มีแต่พวกเขาที่จะควบคุมได้"

ด้าน นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินการของเฟด สะท้อนความกังวลและสถานการณ์ในตลาดเงินของสหรัฐ ซึ่งจะต้องติดตามการตอบรับของตลาดและผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป

อ้างอิง; CNBC, WSJ