ไม่พบผลการค้นหา
เบื้องหลังกระแสตีกลับ Nike-H&M สภาพความเป็นอยู่ของผู้คน 'ซินเจียงอุยกูร์' เป็นอย่างไร และความสำคัญของ 'ฝ้ายซินเจียง' อยู่ตรงไหน

โลกศักราชปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง บางกรณีเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ อาทิ ข้อพิพาทเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่กระจายไม่ทั่วถึง เอื้อประโยชน์ต่อประเทศร่ำรวย บางกรณีสืบรากกลับมาปะทุอีกครั้ง เมื่อเผด็จการยึดอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชนไปต่อหน้าต่อตาพวกเขาด้วยปืน อำนาจ และกฎหมาย

บางข้อพิพาทมาในรูปโฉมที่แยบยลกว่านั้น เช่น ข้ออ้างการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการปกป้องศักดิ์ศรีและเกียรติศักดิ์ของ 'ปุยฝ้าย' ชาติตนเอง อย่างที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างจีนและ 'โลก'


เกิดอะไรขึ้นกับ H&M และ Nike
ทำไมจึงถูก 'คนจีน' แบน ?

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กระแสหลักของโซเชียลมีเดียในจีนล้วนพุ่งเป้าไปที่การแบนแบรนด์สินค้าชื่อดังอย่าง 'H&M' และ 'Nike' เช่นเดียวกับศิลปิน-ดาราเชื้อสายจีนจำนวนมากที่ออกมาประกาศฉีกสัญญากับแบรนด์เหล่านี้ อันเนื่องมาจากแถลงการณ์ที่ทั้งสองบริษัทเคยลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่ขอมีส่วนร่วมกับการได้มาซึ่ง 'ฝ้าย' ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจาก 'เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์'

แถลงการณ์ของทั้งสองบริษัทไม่ใช่จุดยืนใหม่ H&M ออกมาพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "(บริษัท)มีความกังวลอย่างมากกับรายงานจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนที่ระบุถึงการบังคับใช้แรงงาน(ในพื้นที่ซินเจียง)" พร้อมย้ำว่า บริษัทไม่ได้ใช้ 'ฝ้าย' ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญจากพื้นที่ดังกล่าว

จีน - อุยกูร์ - รอยเตอร์ส

แถลงการณ์ไม่ลงวันที่ของ Nike ระบุอย่างชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกว่า บริษัทยึดถือในมาตรฐานทางจริยธรรมและความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตที่มีต่อแรงงานนานาชาติ เป็นเหตุให้บริษัทเกิดความกังวลอย่างมากกับรายงานการบังคับใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับ "เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์" Nike ยืนยันว่า ทั้งบริษัทแม่และซัพพลายเออร์ไม่มีการรับซื้อฝ้ายจากซินเจียง

ส่วนคำถามว่าเหตุใดแถลงการณ์ในอดีตของทั้งสองบริษัทถึงเพิ่งกลับมาสร้างผลกระทบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา มหาอำนาจฝั่งตะวันตก นำโดย สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ร่วมแถลงคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐของจีนในโทษฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นในค่ายกักกัน

บทลงโทษดังกล่าวประกอบไปด้วย การห้ามเจ้าหน้าที่จากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าประเทศพร้อมยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

โดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ สหราชอาณาจักร ระบุว่า "เราส่งสารอย่างชัดเจนที่สุดไปถึงรัฐบาลจีนว่าสังคมนานาชาติจะไม่ยอมหลับหูหลับตาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" ขณะที่รัฐบาลจีนออกมาตอบโต้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก

หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสตีกลับของทั้งรัฐบาลและประชาชนจีน จน H&M ต้องปิดสาขาจำนวนมากลง ทั้งยังถูกถอดออกจากรายชื่อร้านค้าในแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์

เมื่อ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทออกแถลงการณ์ฉบับล่าสุด ชี้แจงว่า จีนยังคงเป็นตลาดที่สำคัญอย่างมากของ H&M และบริษัทตั้งมั่นจะหาทางออกร่วมกัน ทว่า "เรา(H&M)ต้องการจะเป็นผู้ซื้อที่มีความรับผิดชอบทั้งในประเทศจีนและที่อื่น" จึงจะพยายามหาวิธีทำงานร่วมกันต่อไป


มีอะไรอยู่ใน ‘รายงาน’
ของสื่อและหน่วยงานวิจัย ?

แม้ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่า "รายงาน" ที่ทั้งสองบริษัทอ้างอิง เป็นรายงานฉบับใด จากหน่วยงานไหน ทว่าในช่วงที่ผ่านมาทั้งสื่อมวลชน องค์กรศึกษาวิจัยอิสระ และหน่วยงานภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ ให้ความสนใจใกล้ชิดในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์มาโดยตลอด

  • ค่ายกักกัน 380 แห่ง

25 ก.ย. 2563 สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย หรือ ASPI เปิดเผยผลการวิจัยที่เชื่อว่า เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มี "สถานที่ต้องสงสัยว่าเป็นศูนย์กักกัน" มากถึง 380 แห่ง ท่ามกลางพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร

ซินเจียง -  แผนที่
  • ภาพแผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ต้องสงสัยว่าเป็นค่ายกักกัน จาก ASPI

ขณะที่สหประชาชาติ (UN) ระบุว่ามีชาวอุยกูร์และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและพูดภาษาตุรกีถูกคุมขังอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนโต้ว่า ค่ายเหล่านี้เป็นเพียงศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตามรายงานจาก ASPI 'ศูนย์ฝึกอาชีพเหล่านี้' สามารถจำแนกได้เป็น 4 ระดับ จากเข้มงวดน้อยที่สุด (ระดับที่ 1) ไปยังเข้มงวดมากที่สุด (ระดับที่ 4) คือมีทั้งกำแพงสูงล้อมรอบสถานที่ มีหอสังเกตการณ์ ไปจนถึงรั้วกั้นต่างๆ

  • รายงานของสื่อมวลชน

นอกจากเนื้อหาที่ออกมาในรูปงานวิจัย สื่อมวลชนทั้งจาก The New York Times, The Wall Street Journal, Axios ไปจนถึง BBC และอีกหลายสำนักล้วนออกมาตีแผ่เรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในค่ายกักกันชาวอุยกูร์ไม่ขาดสาย ทั้งในแบบบทสัมภาษณ์จากปากของนักเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว ไปจนถึงสารคดีสืบสาวราวเรื่องที่เกิดขึ้นในค่ายต้องห้ามเผยแพร่ความจริงเหล่านั้น

  • รายงานจาก The New York Times เปิดฟุตเทจสภาพความเป็นอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว
  • รายงานจาก The Wall Street Journal สัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวและนักข่าวที่ติดตามประเด็นดังกล่าว
  • รายงานจาก BBC เจาะลึกความเป็นอยู่ที่ผู้คนภายในพื้นที่ต้องเผชิญ

ล่าสุดมีรายงานว่า 'จอห์น ซัดเวิร์ธ' นักข่าวจาก BBC ต้องย้ายถิ่นฐานของเขาและครอบครัวออกจากที่พักในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวัน หลังจากถูกสอดแนมและโดนข่มขู่


เกิดอะไรขึ้นกันแน่ใน
'เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์' ?

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ทั้งยังเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศด้วยพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร

โดยมี 'อุรุมซี' เป็นเมืองหลวง ขณะที่พื้นที่การปกครองแบ่งเป็น 14 จังหวัด 99 เทศมลฑล(อำเภอ) และ 1,005 ตำบล

ซินเจียง - อุยกูร์ - ฝ้าย - รอยเตอร์ส
  • ภาพมุมสูงการเก็บเกี่ยวฝ้ายในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์กในแถบเอเชียกลาง พวกเขาอาศัยอยู่ตามเส้นทางสายไหม และเป็นชนชาติที่มีความรุ่งเรืองมานานหลายศตวรรษ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวอุยกูร์ได้ประกาศตัวเป็นเอกราช ก่อนที่จะถูกจีนเข้ารุกราน และควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีนเมื่อปี 2492 พร้อมกับจัดตั้งให้เป็นเขตปกครองตนเอง ในนามของซินเจียงอุยกูร์

ชนวนสำคัญมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 หลังจากมีทะลักของชาวฮั่นเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น จนเกิดเป็นข้อพิพาททั้งในเชิงเศรษฐกิจ-การค้า ไปจนถึงวัฒนธรรมและความเชื่อ จนก่อให้เกิดความรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตถึง 200 ราย (ส่วนมากเป็นคนฮั่น)

เอเอฟพี - ซินเจียง - อุยกูร์
  • ภาพกองทัพจีนกำลังลงจากเครื่องบินเพื่อเตรียมพร้อมเข้าประจำการปราบปราม 'กลุ่มผู้ก่อการร้าย' บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ณ วันที่ 27 ก.พ. 2560

ความบาดหมางมีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2560 รัฐบาลจีนเริ่มปราบปรามชาวอุยกูร์และกลุ่มมุสลิมอื่นอย่างหนัก จนมีรายงานว่า มีชาวอุยกูร์มากกว่า 1 ล้านคน ถูกจับคุมขังอยู่ในสถานที่กักกันตนในพื้นที่ดังกล่าว


ผู้คนใน 'ซินเจียง'
มีสภาพความเป็นอยู่เช่นไร ?

ข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวยากจะเข้าถึงได้ แต่จากรายงานและข่าวที่รวบรวมคำบอกเล่าของผู้ที่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ดังกล่าวระบุว่า พวกเขาถูกบังคับให้ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (CCP) รวมไปถึงการสละศาสนาอิสลามที่นับถือสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไปพร้อมๆ กับการขับร้องเพลงสรรเสริญระบอบคอมมิวนิสต์และเรียนภาษาจีนกลาง (แมนดาริน)

ซินเจียง - อุยกูร์ - ฝ้าย - แรงงาน - รอยเตอร์ส
  • ภาพแรงงานหญิงจากโรงงานทอพรมแห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

เท่านั้นยังไม่พอ ซินเจียงยังเป็นเขตสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในฐานะดินแดนแห่งการปลูกฝ้ายซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยมีสัดส่วนฝ้ายจากซินเจียงสูงถึง 84% ของการผลิตทั้งประเทศจีน จึงเป็นที่มาให้กลุ่มผู้ถูกคุมขังในพื้นที่ถูกบังคับให้เป็นผู้ถูกใช้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวไปโดยปริยาย

ขณะที่รัฐบาลจีนแย้งว่า มาตรการผลักดันให้เขตปกครองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย เป็นสิ่งหนึ่งในการกำจัด 'ความยากจน' ของคนในพื้นที่

อ้างอิง; NYT(1), NYT(2), NYT(3), NYT(4), SCMP(1), SCMP(2), SCMP(3), BBC(1), BBC(2), BBC(3), WSJ(1), WSJ(2), Reuters, The Guardian, Nikkei Asian Review, CFR, HRW, Britannica, CSIS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;