ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเอกชน พัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับทิ้งเศษอาหาร โดยผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง ตอบโจทย์ BGC

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าเยี่ยมชมกระบวนการพัฒนาผลิตพลาสติกชีวภาพ ด้วยการนำแป้งมันสำปะหลังมาพัฒนาเป็นพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร ที่โรงงานเอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมวิจัยและพัฒนากับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โดยมีบริษัททานตะวันอุตสาหกรรมจำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหารนับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่า หรือประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ เพื่อลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง ร้อยละ 1 ของพลาสติกทั้งหมด เนื่องจากมีต้นทุนสูง แต่เมื่อใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นส่วนประกอบพบว่าช่วยลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 20 อัตราการย่อยสลายก็เร็วขึ้น จาก 6 เดือน เหลือ 3 เดือนเท่านั้น และนวัตกรรมนี้จะไม่ได้ผลิตเฉพาะถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะเศษอาหารเท่านั้น ยังมองไปถึงโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะเพิ่มมูลค่าโดยผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงแรมที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม