นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยรวม 84,890 ราย เสียชีวิต 109 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ นครปฐม นครสวรรค์ สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และภูเก็ต
สำหรับกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 10–24 ปี และกลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุดคือ 15-24 ปี ส่วนในปี 2562 จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด ตั้งแต่วันที่ 1-9 ม.ค. 2562 พบเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวน 3 เหตุการณ์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช นครราชสีมา และสงขลา
ซึ่งคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 – ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังมีฝนตก อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ทำให้ประชาชนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้เลือดออกได้
โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี อาการที่พบคือ มีไข้สูงลอย นาน 2-5 วัน มักจะไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาจพบมีจุดเลือดออกตามตัว ตับโต และมีภาวะช๊อกได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้ไปขายเป็นรายได้เสริม และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย หากพบว่ามีอาการป่วย ควรรีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด