ไม่พบผลการค้นหา
'ประวิตร' นัดประชุม คกก.ชุดใหญ่ดูแลปัญหา 'พีมูฟ' 31 ม.ค. นี้ ยันไม่เคยนิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการทุกเรื่องตามขั้นตอนกฎหมาย

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดเผยกรณีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ออกมาเคลื่อนไหวปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก เขต พระนคร กรุงเทพฯ โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร เร่งแก้ปัญหา 15 ข้อ ว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการทุกเรื่องตามขั้นตอน และข้อกฎหมายอย่างแน่นอน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการที่พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ในวันที่ 31 มกราคม นี้

 “ทุกข้อเรียกร้องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจ และทุกอย่างกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาช่วยเหลือตามขั้นตอน และข้อกฎหมาย โดยท่าน พล.อ.ประวิตร ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกันวันที่ 31 มกราคม นี้” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ระบุ

สำหรับข้อเรียกร้องที่กลุ่มพีมูฟ ยื่นเรียกร้อง 15 ข้อถึง พล.อ.ประวิตร ประกอบด้วย

1.) ยกระดับ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นการกำกับดูแลบริหารจัดการที่ดินโดยทั่วไป ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และขอให้ คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก P-move ที่เสนอโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี 

2.) เร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดิน ที่เกิดจากนโยบายรัฐและให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ ระหว่างรอการออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้

3.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน , พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 รวมทั้งยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

4.) กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ซึ่งต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในส่วนที่ดิน รฟท.

5.) รัฐบาลต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร และต้องสนับสนุน “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง 

6.) ปฏิรูปที่ดินตามกลไกลธนาคารที่ดิน พัฒนากลไกในเข้าถึง ทั้งสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและเร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงาน 

7.) ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ P-move ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้านและปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ 

8.) ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร และคณะทำงานเกี่ยวกับโฉนดชุมชน ภายใต้ คทช. และให้เร่งรัดจัดการประชุมทั้ง 2 คณะทำงานโดยด่วน

9.) ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ

10.) รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยมี แนวทางที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ที่ดินสาธารณประโยชน์, ที่ดินรถไฟ ,ที่ราชพัสดุ ,ที่ดินในเขตป่า หรือที่ สปก.และอื่นๆ 

11.) แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553 

12.) ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี และให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน เยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอยอีก 10 คน

13.) สิทธิสถานะบุคคล ให้มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งการเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคลของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมายดังนี้

  • เครือข่ายการแก้ไขสัญชาติไทย 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา
  • เครือข่ายลาวอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี
  • เครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัด พังงา กระบี่ ระนองสตูล ภูเก็ต
  • เครือข่ายไทลื้อ จังหวัดพะเยา และคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์

14.)ผลักดันให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตามที่ภาคประชาชนเสนอกฎหมายระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

15.)เร่งรัดแก้ไขปัญหาประชาชนผู้ได้ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กรณีอ่างน้ำห้วยฝั่งแดง จ.อุบลราชธานี, กรณีโครงการแก้มลิงทุ่งทับใน จ.นครศรีธรรมราช, กรณีอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง, กรณีอ่างน้ำห้วยน้ำรี จ.อุตรดิตถ์, กรณีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว จ.ลำปาง และโครงการผันแม่ยวม จ.แม่ฮ่องสอน