ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ประจำเดือนมกราคม 2563 ตามข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 220 เดือน หรือ 18 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 ด้วยระดับ 45.0
นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของผุ้บริโภคมีเพียงแค่ 1 ปัจจัยเท่านั้น คือระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮออล ออกเทน 91 (E10) และแก็สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับลดลง 0.60 บาท/ลิตร
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลับเผชิญหน้ากับปัจจัยลบค่อนข้างมาก ทั้งความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา การปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จากร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 2.5 พร้อมกับการปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ จากร้อยละ 3.3 เป็น ร้อยละ 2.8
นายปรีดา เสริมว่า นอกจากประเด็นอย่างไวรัสโคโรนาและการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวม ไทยยังเจอปัจจัยลบอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวที่หดตัว เงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.223 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ช่วงสิ้นเดือนธันวาคม เป็น 30.440 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนมกราคม
ที่สำคัญหลายภาคส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่อาจล่าช้า เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ
นายปรีดา กล่าวต่อว่า ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กก็ยังสร้างความกังวลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัว และตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวลดลง 65.70 จุด ในเดือนมกราคม
"ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัวอยู่ ส่งให้ความกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับสูง และที่สำคัญ คือ ผู้บริโภครู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น" นายปรีดา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้ง 3 รายการ คือ โดยรวม ในปัจจุบัน และในอนาคต 6 เดือน ที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 67.3, 45.0 และ 76.8 ตามลำดับ จากเดิมที่อยู่ที่ 68.3, 45.8 และ 78.1 ตามลำดับในเดือนธันวาคม เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายเนื่องจากประเทศเผชิญหน้ากับปัจจัยลบรอบด้าน
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า ตัวเลขความเชื่อมั่นยังไม่สะท้อนความกังวลของประชาชนเรื่องไวรัสโคโรนามากขนาดนั้น และมองว่าความกังวลจะมาสะท้อนเพิ่มมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ผลกระทบของเศรษฐกิจที่อ่อนแอตอนนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ บ้านหลังใหม่ หรือการท่องเที่ยว ที่ลดลงอย่างชัดเจน
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ยืนยันว่า หอการค้าฯ จะยังไม่ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี แต่เม็ดเงินที่สูญเสียจากเชื้อไวรัสโคโรนา คิดเป็นเงินประมาณ 220,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3 ของจีดีพี
ด้านมาตรการการช่วงเหลือ หอการค้าฯ มองว่า ยังคงเน้นไปที่นโยบายการคลังเพราะสามารถกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยโยบายลงในวันนี้ จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีปัญหามากและต้องการการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน