ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาหนุน 'เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ' ปลดล็อกอำนาจท้องถิ่น เลิกอำนาจรวมศูนย์-ทวงบุญคุณประชาชน ย้ำยิ่งเลือกตั้งหลายจังหวัด ยิ่งโกงยาก จวกรัฐบาลอย่าดูถูกความคิดประชาชน

วันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถ.ราชดำเนิน เขตพระนคร เครือข่ายใต้มูฟออน (South Move On) และ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดการเสวนา 'ถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ #ปลดล็อกท้องถิ่น' โดยมี ชูวิทย์ จันทรส มูลนิธิเด็กและครอบครัว เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ก่อนการเสวนา สมโชติ มีชนะ เครือข่ายใต้มูฟออน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานนี้ โดยระบุว่า เพื่อสร้างความรับรู้ และผลักดันสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ขับเคลื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 ตราบจนปัจจุบัน โดยเชื่อว่าจะเป็นหนทางเสริมศักยภาพการปกครองในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย และปลดปล่อยไทยออกจากการเป็นรัฐราชการรวมศูนย์


กอ.รมน.มีอำนาจเหนือท้องถิ่น หลัง รปห. 57

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดการกระจายอำนาจมีเค้าโครงมาตั้งแต่ปี 2476 จากการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยเทศบาลฯ โดยการผลักดันของ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก็มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ก่อนจะมาสู่การปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญในช่วง 2540 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทว่ายังคงมีปัญหาในเชิงรายละเอียด เช่น เรื่องงบท้องถิ่นที่ถูกจำกัดไม่ถึง 35%

กระทั่งหลังรัฐประหาร 2549 การเมืองไทยถอยกลับสู่รัฐราชการ เช่น ระบบการเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ที่อยู่ในอำนาจยาวนาน และถูกถอดถอนได้ยาก เป็นตัวอย่างสำคัญของด้านมืดของการกระจายอำนาจ ซึ่งมีบ่อเกิดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 จวบจนปัจจุบัน เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการปฏิรูป 

โดยเฉพาะปัจจุบัน จะเห็นได้ถึงกลไกความมั่นคงในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่มีการแก้ไขกฎหมาย กอ.รมน. หรือ เรียกได้ว่าภารกิจครอบจักรวาล ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์ความมั่นคง นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ การมีส่วนร่วมต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้น

"การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นจนถึงปัจจุบันจึงอยู่ภายใต้รัฐรวมศูนย์ ทั้งในแง่ของการจัดสรรงบประมาณจากข้างบน ถูกดึงกลับไปสู่ศูนย์กลางและส่วนภูมิภาค ขณะที่ท้องถิ่นเองก็มีบทบาทจำกัด ฐานทรัพยากรของท้องถิ่นก็ถูกรวมศูนย์ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เรื่องที่สำคัญคือ การจัดสัดส่วนงบประมาณท้องถิ่นให้เข้าถึงง่าย และเพิ่มการมีส่วนร่วม เช่น สภาพลเมือง" ประภาส ระบุ


ปลดล็อกกับดัก รธน.

ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ให้เห็นปัญหาในสองด้าน ประกอบด้วย ปัญหาโครงสร้างของรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ แม้จะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล โดยหัวใจอยู่ที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยทั้งหมดขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย 

"หากไม่ปลดล็อกตรงนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ก็จะเป็นเพียงการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ยกระดับขึ้นมานั่นเอง และผู้ว่าฯ ที่เลือกตั้งขึ้นมาก็จะเป็นแขนขา มือไม้ ของกระทรวงมหาดไทย ซ้ำยังมีอำนาจมากกว่า และสามารถควบคุมกำกับพื้นที่ได้ดั่งใจ นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องปลดล็อคในจุดตั้งต้น ก่อนจะไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ"

ปัญหาอีกด้านคือเชิงทัศนคติ มักจะแสดงให้เห็นว่า อปท. อาจมีการทุจริต และใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นมายาคติที่โน้มน้าวให้ประชาชนมองการกระจายอำนาจในเชิงลบ ว่าเป็นกระบวนการที่ขาดประสิทธิภาพ อันเป็นผลมาจากการกระจายอำนาจที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในประเทศไทย จนกลายเป็นเพียงการกระจายหน้าที่ เพิ่มแขนงสาขาให้อำนาจส่วนกลาง ได้เพียงรับคำสั่งมาอีกชั้นหนึ่ง

ยุทธพร ย้ำว่า ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ถ้าไทยยังติดอยู่กับระบบแบบเดิมจะไปไม่รอด การเลือกตั้งเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น


หวังเปลี่ยนโครงสร้าง ทุกจังหวัดต้องได้เลือกตั้ง

จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตผู้นำนักศึกษา (พฤษภา '35) และประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หวังว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งเราจะได้เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะผ่านมา 90 ปี 1 วัน ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังไม่เกิดขึ้นเลยแม้เพียงวันเดียว หลังการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา '35 แม้จะสามารถมอบอำนาจให้ประชาชนได้สำเร็จ แต่ภายหลังได้มีการส่งอำนาจคืนสู่นักการเมือง ก่อนจะพาให้ประเทศไปติดกับดักของราชการ

จตุพร เห็นว่า การปกครองส่วนภูมิภาคควรต้องยกเลิก ให้คงเหลือเพียงส่วนท้องถิ่น อย่ากลัวว่าจะเกิดการโกง ต้องกล้าให้อำนาจในการเลือกแก่ประชาชน หากกลัวการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ควรแก้ไขการเลือกตั้ง ถ้าตั้งใจจะเปลี่ยนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ เปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วนไม่อาจเกิดการปฏิรูปได้

"ถ้าประเทศนี้กล้าให้อำนาจเลือกตั้งคนกรุงเทพฯ แล้วอีก 76 จังหวัดไม่กินข้าวหรือไง... สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกผูกพันของผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ที่มาจากส่วนกลางจะไม่มีวันผูกพันกับประชาชน เพราะเดี๋ยวก็ต้องย้ายไปจังหวัดอื่น จึงมีเรื่องเล่าว่า ในงานศพของเมียผู้ว่าฯ คนจะมาเต็ม เพราะอยากให้ผู้ว่าฯ เห็นหน้า แต่งานศพผู้ว่าฯ คนมานับหัวได้ เพราะไม่รู้จะพึ่งแกทำไม เดี๋ยวผู้ว่าฯ คนใหม่ก็มา"

หลังช่วงยึดอำนาจไม่นาน อำนาจ กอ.รมน. เหนือกว่าผู้ว่าฯ สั่งโยกย้าย อปท. ได้ทั้งหมด ประเทศนี้ไม่เคยมีอะไรตรงไปตรงมา ประชาชนถูกปกปิดสิทธิที่พึงมี การจะเปลี่ยนแปลงต้องกล้านำเสนอสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ต้องกล้าให้มีผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ไม่ใช่เริ่มต้นเพียงจังหวัดใหญ่ ทุกจังหวัดพร้อมหมดแล้ว มีใครกาเลือกตั้งไม่เป็นบ้าง อย่าดูถูกประชาชนว่ายังไม่ตื่นรู้ทางการเมือง เพียงแต่มีปัญหาส่วนไหนก็ต้องแก้ไขส่วนนั้น


การกระจายอำนาจอยู่ในทุกมิติ

สันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้งแคมเปญ We're all Voters ระบุว่า แคมเปญนี้เกิดจากการตระหนักถึงความอึดอัดใจของคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยรวบรวมสื่อมวลชนจากหลายแห่งมาระดมความคิดหาโมเดลการกระจายอำนาจที่ดีที่สุด และล่ารายชื่อยื่นต่อกรรมาธิการการกระจายอํานาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร และในช่วงชี้แจง ก็ได้มีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยมารับฟังด้วย

โดยข้อเสนอต่อกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ เรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น มอบอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแก่แต่ละท้องถิ่น โดยมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเป็นขั้นต่ำ ซึ่งในขั้นต่อไปจะมีการจัดเสวนาในหัวข้อนี้ จัดโดยกรรมาธิการฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม สันติสุข มองว่า การจะเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจให้สำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงกลไกรัฐสภา และผู้นำสูงสุดของประเทศเองต้องมีวิสัยทัศน์ที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยตนในฐานะสื่อมวลชน จะเน้นการผลิตสื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชน เพราะส่วนตัวมองว่า การกระจายอำนาจนั้นอยู่ในทุกมิติของชีวิต ทั้งเรื่องทรงผมนักเรียน เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสุราก้าวหน้า เรื่องกัญชาเสรี

"หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และมีการปฏิรูปให้ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจริง ผมคิดว่าการเมืองภาพใหญ่จะครึกครื้นมาก เพราะบรรยากาศประชาธิปไตยจะผลิบานไปทั่วประเทศ" สันติสุข กล่าว


การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ไม่ใช่บุญคุณ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคก้าวไกล มองว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นวาระอย่างไม่เป็นทางการ ในการที่ประชาชนจะได้ทบทวนยุทธศาสตร์ของเมืองร่วมกัน คนในเมืองจะได้เห็นปัญหาของกันและกัน สร้างความเห็นอกเห็นใจ และได้ร่วมกันเลือกผู้ที่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด ก่อนที่ 4 ปีข้างหน้าจะได้ทบทวนยุทธศาสตร์ของเมืองกันอีกครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งทำเอกสารมากมายเหมือนการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่ล้าหลัง และลดทอนอำนาจของพรรคการเมือง สะท้อนว่าส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชนจึงต้องเข้ามาควบคุม ส่งผลให้การส่งเสริมในมิติต่างๆ ของท้องถิ่นไม่เต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ สาเหตุที่ส่วนกลางกลัวการกระจายอำนาจ เพราะแนวคิดว่าการที่ส่วนกลางเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น จะถือว่าเป็นบุญคุณต่อประชาชน ถ้าปกครองไม่ดี ก็ถือเป็นบุญทำกรรมแต่ง แต่การเลือกตั้งจะเปลี่ยนมุมมองของประชาชนต่อการปกครอง

"การเลือกตั้งจะเป็นหน้าที่ และคำมั่นสัญญาต่อประชาชน ไม่ใช่บุญคุณแล้ว มุมมองของประชาชนแตกต่างไป ช่วงโควิด-19 ที่ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไม่รับเงินเดือน ถ้าเป็นสมัยก่อนจะรู้สึกเป็นบุญคุณอย่างมาก แต่ดูปฏิกิริยาของประชาชนสมัยนี้ ประชาชนไม่ได้หวงเงินเดือนคุณ ประชาชนต้องการให้คุณทำงาน เขายินดีจ่ายเงินให้คนทำงาน แต่ถ้าคุณไม่ทำงาน คุณคืนเงินเดือนแต่ตำแหน่งยังอยู่ ถ้าอย่างนั้นช่วยคืนตำแหน่งให้ประชาชนด้วย จะได้เลือกใหม่"

ระบอบประชาธิปไตยเป็นกลไกที่บริหารความพึงพอใจของประชาชน หากประชาชนเลือกตั้งมาแล้วไม่พอใจ ก็จะได้เลือกใหม่ ส่วนครั้งหน้าผู้แพ้การเลือกตั้งก็อย่ามีมิจฉาทิฐิว่าโดนโกง แต่ต้องมองตัวเองว่าทำให้ประชาชนพอใจ บ่อยครั้งมักมีมายาคติว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมักโกง แต่ตนมองว่า ยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งโกงยาก เพราะจะเป็นการทลายระบบอุปถัมภ์ที่ผูกขาดทรัพยากรท้องถิ่น

ในโอกาสเดียวกันนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และ ปกรณ์ อารีย์กุล ในฐานะตัวแทนคณะก้าวหน้า ยังได้เดินทางมาเพื่อรับมอบ 5,000 รายชื่อประชาชนที่ลงนามสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปลดล็อกท้องถิ่น จาก สมโชติ มีชนะ เครือข่ายใต้มูฟออน และ นันทพงศ์ ปานมาศ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย