นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กล่าวว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ค.2563 การส่งออกมีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 22.50 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2552 หรือประมาณ 11 ปี จากที่ตลาดคาดว่าจะติดลบร้อยละ 5.8 ถึงร้อยละ 6.0
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 34.41 มากสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ เม.ย. 2559 จากเดิมที่ตลาดคาดว่า จะติดลบร้อยละ18 ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,694.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากส่งออกติดลบน้อยกว่า
ส่วนสาเหตุที่การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 2563 หดตัวลงมาก มีสาเหตุสำคัญจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของหลายประเทศทั่วโลกลดลง และยังประเมินได้ยากว่าจะลากยาวไปถึงเมื่อใด นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในเดือน พ.ค.2562 จึงทำให้มีอัตราติดลบในระดับสูง
อย่างไรก็ดี แม้สินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ แต่สินค้าไทยหลายรายการยังสามารถประคองตัวเองได้ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอาหารที่พบว่าในเดือน พ.ค.มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากเดือน เม.ย.ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 15-16
สำหรับภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 3.71 นำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 11.64 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,090.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า การส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการส่งออกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมต่างยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวได้เมื่อใด แต่ประเมินว่าการส่งออกในช่วงหลังจากนี้ไปจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้น และไม่ต่ำไปมากกว่านี้แล้ว ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการระบาดของโควิดในระลอกสองจนทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง และการส่งออกในครึ่งปีหลังจะยังได้รับกระทบต่อเนื่องจากปัญหาการขนส่งที่ทำได้ยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และกำลังซื้อในหลายประเทศชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือน พ.ค. 2563 เมื่อหักน้ำมันและทองคำติดลบกว่าร้อยละ 27.1 สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ติดลบถึงร้อยละ 60 ขณะที่นำเข้าติดลบมากกว่า สะท้อนกำลังการผลิตเพื่อส่งออกก็ซบเซาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนจากนี้ ซึ่งหากมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่เหลือปีนี้ทำได้ 17,000-18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้การส่งออกทั้งปี 2563 จะติดลบร้อยละ 5 จากเดิมประเมินส่งออกเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่เดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะติดลบร้อยละ 3
ขณะที่หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจากนี้ทำได้แค่ 16,000-17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะติดลบมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้เร็วเกินไปว่าจะคาดการณ์ว่าอาจจะติดลบถึงร้อยละ 7-8 อย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้ เนื่องจากในเดือน มิ.ย. เริ่มเห็นการกลับมาซื้อวัตถุดิบและลงทุนแล้ว
"ตอนนี้ทั้งปีก็ติดลบมากกว่าร้อยละ 3 แล้ว ไตรมาสถัดไปยังไม่แน่ใจว่าจะได้ถึงเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ แต่ถ้าต่อเดือนทำได้ 17,000-18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปีก็น่าจะติดลบราวร้อยละ 5 แต่ถ้าทำได้ดีกว่านี้ ก็อาจจะติดลบน้อยลง" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: