เม็ดเงินที่ฝ่ายค้านให้ความสนใจในระหว่างการอภิปรายวันแรก หนีไม่พ้นงบประมาณในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 153,940 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ทั้งที่ต้องใช้เม็ดเงินในการไปต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก
ขณะที่งบฯ กระทรวงกลาโหม กลับมีวงเงินที่สูงกว่า จำนวน 2.03 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 ของเม็ดเงินงบประมาณฯ
ส.ส.พรรคฝ่ายค้านต่างลุกขึ้นมาใช้เวทีอภิปรายงบประมาณ แปรเป็นเวทีซักฟอกรัฐบาล
โดยเฉพาะ 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ทั้งที่ในห้วงเวลาที่ประเทศมีความจำเป็นสูงสุดด้านสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุข กลับไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณอย่างเต็มที่
"ด้วยการบริหารจัดการโดยรัฐบาลที่ไร้ศักยภาพที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสียสละตนเอง คืนความสุขกลับมาให้ประชาชน ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" สมพงษ์ เปิดอภิปรายกดดันให้นายกฯ เสียสละลาออกจากตำแหน่ง
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล โดย 'วิโรจน์ ลักขณาอดิศร' อภิปรายยืนยันว่า พรรคก้าวไกลไม่อาจที่จะรับได้ และขอเรียกร้องรัฐบาลที่ไร้จิตสำนึกชุดนี้ ลาออกไป อย่ามาอ้างว่า สถานการณ์ที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหา ไม่ควรจะเปลี่ยนม้ากลางศึก แนะนำให้ลองก้มลงไปดูก่อน ถ้ารู้แน่ๆ ว่าที่ขี่อยู่ไม่ใช่ม้า ถ้าเปลี่ยนเป็นม้าได้เมื่อไหร่ก็คุ้ม
ขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่ก็ให้ ส.ส.ในพรรคอภิปรายผ่านเวทีสภาฯ
เห็นได้จากคำอภิปรายของ 'ชาดา ไทยเศรษฐ์' ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยที่โจมตีงบประมาณที่ตั้งไว้ในปี 2565 ว่าเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน เพราะได้ตัดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขลงแทบทุกกรม ทั้งที่สถานการณ์ โควิด-19 คนที่ดูแลประชาชนก็คือกระทรวงสาธารณสุข และเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่แคร์ความรู้สึกประชาชน ไม่ได้นึกว่าคนที่แก้ปัญหาอะไรต่างๆ จะต้องมีปัญหาอย่างไร
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน หัวหน้าพรรค เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” ชาดา ระบุ
จุดยืนของพรรคฝ่ายค้านก่อนประชุมสภาฯ พิจารณางบประมาณในวาระที่หนึ่ง ประกาศชัดเจนคือ คว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีเสียงท้วงติงออกจาก ส.ส.ซีกรัฐบาลก็ตาม แต่สุดท้ายผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 น่าจะผ่านในวาระที่หนึ่งได้ไม่ยาก
ไม่ยากเพราะด้วยเสียง ส.ส.ในสภาฯของรัฐบาลมีจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 483 คน ซึ่งการลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่า 242 เสียง
ยิ่งลงลึกไปในรายละเอียดของเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาล ที่มี พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำหลักมีเสียงในมือจาก 122 เสียง เหลือ 120 เสียง (ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ)
พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.ในสังกัด 61 เสียง ยังไม่นับ 4 ส.ส.จากพรรคก้าวไกล (ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย) ที่เคยโหวตสวนพรรคตัวเองเมื่อครั้งเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อต้นปี 256 ด้วยการลงมติไว้วางใจ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข และ 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' รมว.คมนาคม
เสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ล่าสุด มีจำนวน 271 เสียง (ไม่นับ 5 ส.ส.ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนหน้านี้) ทำให้เสียงโหวตในสภาฯ จึงน่าจะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ในวาระที่หนึ่งได้ไม่ยาก
ไม่ต้องมองไปถึงเสียงของฝ่ายค้านที่มีจำนวน 212 เสียง (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมฝ่ายค้าน) เพราะมี ส.ส.ถูกดูด ส.ส.ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล มี ส.ส.ที่มีใจอยู่กับพรรคภูมิใจไทยแล้ว 4 คน ทำให้ พรรคก้าวไกลจะมี ส.ส.ที่โหวตคว่ำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพียง 49 เสียง
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย 134 เสียง จะมี ส.ส.1 คนคือ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ที่โหวตสวนทางกับพรรคเพื่อไทยจะไม่โหวตตามมติพรรคเช่นเคย
ขณะที่พรรคประชาชาติ 7 เสียง มี ส.ส. 1 เสียง คือ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี ที่มีใจอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะโหวตในทิศทางเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ
รวมแล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเสียงโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประมาณ 205-206 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอในการคว่ำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้
มติที่ประชุมสภาฯ ในการลงมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 ในวาระที่หนึ่ง จึงน่าจะผ่านไปได้ไม่ยากนัก ด้วยมติเห็นชอบน่าจะถึง 277-278 เสียง คือ ได้เสียง ส.ส.งูเห่าจากพรรคฝ่ายค้านมาโหวตสนับสนุนเช่นเคย
"เป็นเพียงละครของ ส.ส.รัฐบาลที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตัดงบฯในบางกระทรวง แต่สุดท้ายก็ต้องโหวตเห็นชอบให้กับรัฐบาลอยู่ดี" เป็นคำยืนยันที่ ส.ส.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านประเมินถึงการทิศทางการโหวตศึกอภิปรายงบฯปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง