ไม่พบผลการค้นหา
สมัชชาคนจน จัดเวทีสัญจร ปมปัญหาก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ โดยตัวพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างขานรับยกเลิกเขื่อนท่าแซะ ด้านพรรคอนาคตใหม่อัดมติ ครม.ปี61 ไม่สนใจคนจน ผลักดันสร้างเขื่อน เอื้อนายทุน ขณะที่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอหัวหน้าพรรคให้ยกเลิกสร้างเขื่อนท่าแซะ ชี้ไม่มีความจำเป็น

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. สมัชชาคนจน จัดกิจกรรมเวทีสัญจร พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 3 ตอน “การแย่งชิงทรัพยากรจากคนจน กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ณ ศูนย์กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ บ้านร้านตัดผม ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อให้ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมรับฟังปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร โดยมีผู้แทนพรรคการเมือง 4 พรรค จากรัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้าร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหา ประกอบด้วย นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ นายสมยศ หนูหนอง หัวหน้าสาขาพรรคชาติไทยพัฒนา จ.นครศรีธรรมราช นายสามารถ ศักดิ์แก้ว ผู้ช่วย ส.ส.ธีระ วงค์สมุทร พรรคอนาคตใหม่ นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ

นายพิชัย จันทร์ช่วง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ได้นำเสนอปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ โดยระบุว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ เป็นโครงการที่มีมายาวนานนับตั้งแต่มีพายุเกย์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยเป็นแผนงานป้องกันอุทกภัย จ.ชุมพร โครงการดังกล่าวไม่ได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ หากมีการสร้างเขื่อนท่าแซะ จะมีชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างน้อย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยทรายขาว บ้านห้วยใหญ่ และบ้านร้านตัดผม มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 500 ครัวเรือน

นายพิชัย กล่าวว่า หลังเกิดพายุเกย์เมื่อปี พ.ศ. 2532 ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีแผนจะสร้างเขื่อนสูญเสียบ้าน สวน พืชผล ไปทั้งหมด และยังยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ต่อไป เริ่มสร้างบ้าน สร้างสวนขึ้นมาใหม่ เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สวนที่สร้างที่ทำไว้ออกดอกออกผล ทำให้ชีวิตมีมั่นคง ปัจจุบันโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะอยู่ในแผนการก่อสร้างของกรมชลประทาน ทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างหวาดผวา

นายวิโรจน์ ชูกลาง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ เล่าว่าปี 2551 มีมติคณะรัฐมนตรีห้ามมิให้กรมชลประทานดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนท่าแซะ จนกว่าจะมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการแบบบูรณาการ ตามข้อตกลงของสมัชชาคนจนและกระทรวงเกษตรและสหการณ์ในขณะนั้น แต่เมื่อปี 2561 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มีการเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนท่าแซะ จากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ทำให้ความเดือดร้อนของชาวบ้านกลับมาอีกครั้ง

นางวัชรี จันทร์ช่วง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ กล่าวว่า กว่าชาวบ้านจะมีความเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ชาวบ้านเริ่มต้นจากศูนย์หลังพายุเกย์ จนตอนนี้ส่งลูกหลานเรียนหนังสือจบปริญญา โครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะไม่เป็นประโยชน์ของใคร แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ หรือต้องการนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรม แม้มีมติ ค.ร.ม. ให้ชะลอโครงการเพื่อให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ สร้างความหวั่นวิตกให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก”

ภายหลังจากได้รับฟังสถานการณ์ปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร จากตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ ต้นน้ำท่าแซะแล้ว ผู้แทนพรรคการเมืองพรรคต่างๆ ได้แสดงความเห็นภายใต้หัวข้อ “ในฐานะพรรคการเมืองของท่านที่มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะแก้ไขปัญหาชาวบ้าน อย่างไร”


สมัชชาคนจน พรรคประชาชาติ เขื่อนท่าแซะ -4940-856A-6E03B59ECF03.jpeg

โดยนายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาความไม่แน่ชัดในการสร้างเขื่อนท่าแซะ ทำให้ชาวบ้านด้านบนและด้านล่างทะเลาะกัน พอน้ำท่วมชาวบ้านด้านล่างก็ไปกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดให้สร้างเขื่อน ทำให้คนด้านบนเดือดร้อนก็ไปกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดว่าไม่เอาเขื่อน เมื่อตนสอบถามชลประทานก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนสักครั้งว่าจำเป็นจริงหรือไม่ในการสร้างเขื่อนท่าแซะ ดังนั้น เมื่อข้อมูลไม่ชัดเจนก็ไม่ควรสร้าง ในความเห็นซึ่งจะนำเสนอข้อมูลไปยังหัวหน้าพรรคประชาชาธิปัตย์เพื่อแก้ปัญหา

1. เสนอให้ยกเลิกโครงการเพราะยังไม่มีเหตุผลความจำเป็น

2. ต้องมีการเจรจากันระหว่างคนด้านบน และคนด้านล่างโดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเป็นคนกลาง เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน

นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดที่เขื่อนท่าแซะกลับมาอีกครั้ง คือ การเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดชุมพร เมื่อปี 2561 เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มธุรกิจ คือสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการแย่งชิงทรัพยากร กลุ่มธุรกิจพยายามจะทำระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และต้องหาแหล่งน้ำรองรับ เช่นนี้ คือ การไม่สนใจคนจน ไม่สนใจพี่น้อง มองไม่เห็นคนจน

“การต่อสู้ของพี่น้องต้องร่วมกันระหว่างประชาชนและพรรคการเมืองในสภา ผมในฐานะผู้แทนราษฎร ก็จะนำเสนอการแก้ไขปัญหาในระบบสภา การทำงานในสภา คือ การรับความเดือดร้อนของพี่น้องไปหาวิธีแก้ไข การสร้างเขื่อนไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาภัยแล้ง พี่น้องต้องร่วมมือกันกับฝ่ายการเมืองเพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน” นายสมชาย ระบุ

นายสมยศ หนูหนอง หัวหน้าสาขาพรรคชาติไทยพัฒนา จ.นครศรีธรรมราช ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พี่น้องในพื้นที่ยังรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากร เพราะไม่เช่นนั้นคงย้ายถิ่นตั้งแต่มีพายุเกย์ แต่ตอนนี้ได้สร้างฐานะ ความเป็นอยู่ในชุมชน มีโรงเรียน มีวัด มีต้นทุนในการพัฒนา การแก้ปัญหา 30 ปีที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนท่าแซะ ไม่ใช่คำตอบของพี่น้องท่าแซะและชุมพร ตนในฐานะตัวแทนพรรครับข้อมูลตรงนี้ และนำเสนอเพื่อให้มีการดำเนินงานโดยเร็ว

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคประชาชาติมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และร่วมกับบีโอไอ และ 7 พรรคฝ่ายค้าน คัดค้านการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม