ไม่พบผลการค้นหา
'ตัวแทนองค์กรครู' แต่งดำ-วางพวงหรีด ไว้อาลัย กมธ.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ลิดรอนสิทธิประโยชน์ ร้อง สพฐ. คืนอาชีพให้ภารโรงเกษียณอายุ

วันที่ 1 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา สุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พร้อมด้วย เกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย และ ปรีดา บุญเพลิง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน รับหนังสือจากตัวแทนองค์กรครูทั่วประเทศ ประกอบด้วย ครู ผู้บริหาร สถานศึกษา และบุคลากรจากหน่วยงานทางการศึกษา ที่มายื่นหนังสือคัดค้านมติของกรรมาธิการเสียงข้างมากในหลายมาตรา เพราะเห็นว่าได้ลิดรอนสิทธิประโยชน์ของบุคลากรครู

ธนชน มุทาพร เลขาธิการสมาคมผู้บริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีแนวโน้มจะรักษาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเคยเสนอ ซึ่งบุคลากรครูได้แสดงท่าทีคัดค้าน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบและปัญหาในทางปฏิบัติ และพยายามผลักดันร่างอื่นที่มีประโยชน์กว่า บุคลากรทางการศึกษากว่า 1,500 คน จึงได้ลางาน และรวมตัวกันมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อกระตุกจิตสำนึกของคณะกรรมาธิการบางท่าน ที่พยายามจะคงร่าง พ.ร.บ.เดิมไว้ เช่น การแต่งกายชุดดำ และมอบพวงหรีด เพื่อไว้อาลัยต่อความกล้าหาญทางจริยธรรมของคณะกรรมาธิการฯ 

ธนพร ยังย้ำว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้นักเรียนกลายเป็นหุ่นยนต์ เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่สามารถนอกเหนือจากกรอบกำหนดได้ เป็นแการดำเนินการโดยไม่รับฟังเสียงของบุคลากรทางการศึกษาที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เปรียบเสมือนเห็นเป็นไส้ติ่งของระบบการศึกษา วันนี้เรามาด้วยความสถจริตใจ เพราะต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตอบโจทย์การศึกษา เป็นไปเพื่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทั้งนี้ องค์กรฯ ยังได้วางข้อเสนอ 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.กระบวนการนิติบัญญัติควรดำเนินการออกกฏหมายอย่างเป็นอิสระ

2.ขอให้กรรมาธิการฯ ดำเนินการด้วยความรอบคอบ รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3.ทบทวนกฏหมายที่ลิดรอนสถานะ สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรในวิชาชีพครู

4.การจัดโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่เป็นแบบ single command ที่จะกดทับความคิดของครูและคนในระบบการศึกษา

5.หากรัฐสภาและกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ ยังจะคงร่างเดิมของ พ.ร.บ.ไว้โดยไม่รับฟังเสียง องค์กรครูทั่วประเทศจะยกระดับการเรียกร้องให้รุนแรงขึ้น

จากนั้น สุรวาท ยังได้รับหนังสือจาก วีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) พร้อมด้วย วิชาญ ชัยชมภู นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา ที่เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คืนตำแหน่งภารโรงให้โรงเรียนในสังกัด เนื่องจากผลกระทบของมติ ครม. ให้ยุบเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ ลาออกจากราชการ และเสียชีวิต ทำให้ สพฐ.ขาดลูกจ้างประจำ ซึ่งภารโรงถือเป็นกำลังหลักของระบบการศึกษา จึงจำเป็นต้องขอทวงคืนตำแหน่งนี้ให้แก่โรงเรียน และดูแลให้ภารโรงอย่างยั่งยืน