ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ สัมภาษณ์ 'ชาลินี สนพลาย' นักรัฐศาสตร์เขย่าประเด็นร้อน รื้อความเข้าใจ ทำไมนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. การมีระบบเสนอแคนดิเดตนายกฯ แต่ไม่ลง ส.ส. ถือว่าเป็น 'นายกฯ คนนอก' หรือไม่ ขาดความยึดโยงกับประชาชนไปเลยหรือเปล่า หรือนี่คือการออกแบบให้เกิดการเลือกนายกฯ ทางตรง..แบบอ้อมๆ

ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยว่า เป็นการปกครองในระบบรัฐสภา โดยหนึ่งในหลักสำคัญของระบบรัฐสภาคือ หลักการควบรวมอำนาจ (fusion of powers) แม้โดยปกติแล้วคนเรียนรัฐศาสตร์จะรู้จักหลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ที่พูดถึงการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกไปที่ 3 สถาบันหลัก คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ 

ในระบบรัฐสภาไม่ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ มากเท่ากับหลักการใช้อำนาจรวมกันอย่างผสมผสาน หรือ fusion of powers นอกจากนี้ยังยึดหลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament) โดยถือว่ารัฐสภาเป็นที่มาก่อเกิดอำนาจให้กับสถาบันองค์กรอื่นภายในรัฐ รวมถึงฝ่ายบริหารด้วย สถาบันต่างๆ จึงต้องมีความเชื่อมโยงกับรัฐสภา เพราะมีเพียงรัฐสภาเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในแง่นี้ประมุขของฝ่ายบริหารก็ต้องมาจากรัฐสภาด้วยเช่นกัน และโดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีหลักที่เข้มงวดว่าจะต้องเป็น ส.ส.เพียงแต่ต้องมาจากการเสนอชื่อ และการเลือกของรัฐสภา เพื่อให้ประมุขแห่งรัฐลงนามรับรองประมุขของฝ่ายบริหารอีกที 

เมื่อประมุขของฝ่ายบริหารมาจากรัฐสภา ฝ่ายบริหารก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อที่จะบอกให้รัฐสภารับรู้ว่า ฝ่ายบริหารจะทำอะไรต่อจากนี้่ ในขณะเดียวกันสภาก็มีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารได้ ซึ่งหากเป็นระบบประธานาธิบดี จะไม่มีการทำงานตรวจสอบกันในลักษณะนี้ เพราะเป็นการใช้อำนาจแบบแยกกัน ต่างฝ่ายต่างมาจากประชาชนทั้งคู่ จึงรับผิดรับชอบต่อประชาชนโดยตรงทั้งคู่ 

ส่วนไอเดียที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเป็น ส.ส. ของประเทศไทย เป็นความคิดที่มาจากการประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองมากกว่าหลักการของระบบรัฐสภา เพราะประเทศไทยเคยผ่านช่วงเวลาที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกสงวนไว้โดยพฤตินัยให้กับ 'คนนอก' เช่น ผู้นำในระบบราชการและผู้นำกองทัพ แม้จะมีการเลือกตั้งโดยปกติ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าตำแหน่งนายกฯ จะถูกสงวนไว้ให้กับคนอื่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 

ไอเดียนี้เกิดขึ้นในยุค 'พฤษภา 35' ที่หลายคนเห็นว่า พอได้แล้วสำหรับการสงวนตำแหน่งนายกฯ ไว้ให้กับคนอื่น จึงมีการผลักดันในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้ง พร้อมกับการกำหนดให้มี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองซึ่งพยายามจะทำให้การเมืองในระบบรัฐสภามีความหมาย

ต่อมาเมื่อเกิดรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไว้ล่วงหน้า และจะมีสิทธิถูกเสนอชื่อก็ต่อเมื่อพรรคมีที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง แต่ไม่ได้กำหนดว่านายกฯ จะต้องเป็น ส.ส. ก่อน สิ่งนี้คือร่องรอยของความพยามในการแยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน ซึ่งไอเดียนี้เป็นฐานคิดของอีกระบบหนึ่งที่ไม่ใช่ระบบรัฐสภา 

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในอดีตก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยทั้งหมดมีความรู้สึกร่วมกันว่า รัฐบาลที่มีมาตลอดไม่มีประสิทธภาพในการบริหารประเทศ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเนื่องจากฝ่ายบริหารมีอำนาจน้อย มีอายุสั้น รัฐบาลขาดเสถียรสภาพ และมีความเป็นมืออาชีพไม่พอ จึงมีความคิดว่าด้วยการแยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน เพื่อต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจมากขึ้นจะได้ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายได้ อยากได้รัฐบาลที่มีอายุยาวให้ทำงานได้ต่อเนื่อง เห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องการรัฐบาลที่มีฝีมือในการบริหารจริงๆ ทั้งหมดนี้เพื่อลดทอนความสามารถของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร จนฝ่ายบริหารทำอะไรไม่ได้ 

ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบเสนอแคนดิเดตนายก ถามว่าความยึดโยงกับประชาชนได้หายไปหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้หายไป เพราะฝ่ายบริหารก็ยังได้มาจากการโหวตของรัฐสภา มากไปกว่านั้นยังมีการทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า ใครบ้างที่จะมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี ระบบแคนดิเดตนายกฯ จึงไม่ได้ทำลายหลักความยึดโยงกับประชาชน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ การมีอยู่ของบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกนั้นส่งผลทางอ้อมให้รู้สึกว่า ประชาชนกำลังเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ‘โดยตรง’ 

“ด้วยความที่สังคมไทยมีประวัติศาสตร์การเมืองมาอย่างนี้ เมื่อเห็นว่าแคนดิเดตนายกฯ ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. จึงทำให้คนรู้สึกว่า นี่อาจจะเป็น นายกฯ คนนอก แบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา ขณะที่นายกฯ คนนอกที่ชัดเจนจริงๆ คือนายกตามมาตรา 7 ที่พัธมิตรฯ เคยเสนอ”

“การเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อให้ นายกฯ รัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ยังไม่เหมือนกับการเลือกตั้งในยุคที่มีการการเชิญ พล.อ.เปรม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะครั้งนี้ประชาชนทุกคนรู้ว่าใครบ้างที่จะมีสิทธิเป็นนายกฯ ได้ ชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลอยมาจากไหนก็ได้ แต่ประชาชนเห็นตั้งแต่แรก” ชาลินีกล่าว