ไม่พบผลการค้นหา
ความขัดแย้งบริเวณชายแดนบริเวณหิมาลัยรอบนี้มีทหารเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นายแล้ว ถือเป็นการปะทะกันรุนแรงระหว่างจีนและอินเดียครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2518

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของอินเดียเผชิญหน้ากับกองทัพจีนบริเวณสันเขาแคบๆ ที่เป็นพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนลาดักห์ของแคชเมียร์ จนเกิดการต่อสู้กัน โดยแหล่งข่าวได้เปิดเผยกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียนว่า ผู้บัญชาการของอินเดียถูกผลักตกลงไปในแม่น้ำ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเรียกกำลังเสริมเข้าไปต่อสู้กันอีกหลายร้อยคน

กองทัพอินเดีย เปิดเผยว่า มีทหารจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เสียชีวิตจากการปะทะกันครั้งนี้ โดยทหารอินเดียอย่างน้อย 20 นายเสียชีวิต ในจำนวนนี้ 3 นายเสียชีวิตระหว่างการปะทะกัน และอีก 17 นายบาดเจ็บสาหัสก่อนจะเสียชีวิต 

ขณะที่ทางการจีนปฏิเสธที่จะยืนยันตัวเลขของทหารที่เสียชีวิต แต่ได้กล่าวหาว่า อินเดียรุกล้ำเขตแดน 2 ครั้ง และ “ยั่วยุและโจมตีให้เจ้าหน้าที่ของจีน” ส่วนบรรณาธิการบริหารของโกลบอลไทม์ส สำนักข่าวของรัฐบาลจีนระบุว่า เขาเข้าใจว่ามีทหารจีนเสียชีวิต แต่กองทัพจีนต้องการหลีกเลี่ยง “การเติมเชื้อไฟในความรู้สึกของสาธารณะ” ด้วยการเปรียบเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตของแต่ละฝ่าย

 

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเป็นอย่างไร?

อินเดียและจีนเคยทำสงครามกันในปี 2505 เพื่อแย่งชิงพื้นที่บริเวณหิมาลัย เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร แต่สงครามครั้งนั้นก็จบลงด้วยการทำข้อตกลงสงบศึกและประกาศเส้นเขตแดนโดยพฤตินัยที่เรียกว่า เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (LAC) แต่ไม่เคยมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนอย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียบริเวณชายแดนก็เป็นไปอย่างน่าอึดอัดและเปราะบางมีการต่อสู้กันประปราบบริเวณชายแดน เช่นในปี 2556 และ 2560 และในการปะทะกันรอบล่าสุดเป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศอันตราย สูงชันและไม่มีค่อยมีประชาชนอาศัยในลาดักห์ ติดกับทิเบต 

ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต้องการจะอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาท โดยจีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่มากกว่า 90,000 ตารางกิโลเมตรทางตะวันออกของหิมาลัย และอีก 38,000 ตารางกิโลเมตรทางตะวันตกของหิมาลัย ซึ่งอินเดียก็อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน

จีนและอินเดียพยายามช่วงชิงพื้นที่พิพาทด้วยการนำกองทัพและอาวุธไปไว้ในพื้นที่พิพาท ต่างฝ่ายต่างสร้างถนน ลานบิน สถานีด่านหน้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น สายโทรศัพท์ ทหารทั้งสองฝ่ายเดินลาดตระเวนตามแนวพื้นที่พิพาทเป็นประจำ

 

ทำไมถึงขัดแย้งกันช่วงนี้?

ความตึงเครียดระหว่างจีนและอินเดียก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย. เมื่ออินเดียสร้างถนนในลาดักห์ส่งผลให้จีนส่งทหารหลายพันนายไปประจำการในพื้นที่พิพาทบริเวณเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (LAC) พร้อมทำปืนใหญ่และยานพาหนะต่างๆ ไปไว้ในบริเวณดังกล่าวด้วย 

การที่จีนปฏิเสธที่จะออกจากพื้นที่พิพาท รวมถึงบริเวณหุบเขากัลวานในเขตแดนของอินเดีย ทำให้ทหาร 2 ฝ่ายตะโกนใส่กัน ปาหิน และชกต่อยกัน โดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาก็มีการรุมชกต่อยกันระหว่างทหารทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่มีการเสียชีวิตแต่อย่างใด

เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารจากจีนและอินเดียได้พบปะกันและตกลงร่วมกันว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและจีนอาจส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศได้ เนื่องจากจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ทั้งคู่ และรัฐบาลอินเดียและจีนก็ดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างเข้มข้น มีการยกย่องกองทัพเป็นความภูมิใจของประเทศ

นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งรอบนี้อาจตีความได้ 3 ทาง คือ

1. พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามโหมความรู้สึกชาตินิยม เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของคนจีนไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนา

2. ตอกย้ำสถานะของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำที่มีความสามารถและเด็ดเดี่ยว จากที่เขา "ประสบความสำเร็จ" ในการจัดการกับไวรัสโคโรนา

3. ในระดับยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ อินเดียอยู่ในเส้นทาง One Belt One Road ของจีน จีนจึงพยายามกดดันไม่ให้อินเดียเข้าใกล้สหรัฐฯ มากเกินไป แต่ผลลัพธ์อาจยิ่งทำให้อินเดียหันไปเข้าร่วมกับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่จีนก็มีความเชื่อมันในมาตรการใช้ไม้แข็งของตัวเอง


ที่มา : The Guardian, BBC, Bloomberg