ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจนิวยอร์กเผย พฤติกรรมความเกลียดชังของชาวอเมริกันที่มีต่อคนเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1,900% ในปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

หลังการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา อัตราการการเหยียดเชื้อชาติและการทำร้ายร่างการชาวเอเชียนอเมริกันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมากกว่าสถานการณ์ในปีก่อนหน้าหลายเท่าตัว โดยกรมตำรวจของนครนิวยอร์ก หรือ NYPD เปิดเผยว่า 'อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง' ซึ่งมีต้นเหตุจากความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียนอเมริกันในพื้นที่ของนครนิวยอร์กนั้นพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 1,900% ในปี 2563 จนนำมาสู่การลงถนนประท้วงในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ 

TIME ชี้ว่า เหตุความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมายังปี 2564 ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีประณามการต่อต้านเชื้อชาติชาวเอเชียหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการก่อเหตุความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมความเกลียดชังอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีการก่อเหตุในพื้นที่ไชนาทาวน์ของเมืองโอกแลนด์ และเบย์แอเรียร์ของนครซานฟรานซิสโกในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นจุดที่มีความรุนแรงหนักและถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการก่อเหตุของ อองตวน วัตสัน วัยรุ่นวัย 19 ปี ที่ได้วิ่งพุ่งเข้าใส่ชายชาวไทยวัย 84 ปีเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะเดินอยู่ริมฟุตบาธใกล้บ้านพักในซานฟรานซิสโกจนล้มลงกับพื้นอย่างแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

AFP - เหยียดเชื้อชาติ สหรัฐฯ เอเชียนอเมริกัน

เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากบรรดาชุมชนชาวไทยและชาวเอเชียในสหรัฐฯ โดยพบว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหลายเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บน ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และโพสต์ภาพจากอินสตราแกรมที่เป็นภาพวาดของวิชา พร้อมติดแฮชแท็ก #VichaRatanapakdee เพื่อไว้อาลัยต่อการเสียชีวิต รวมถึงเพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงกระแสความรุนแรงที่พุ่งเป้ามายังชาวเอเชียทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่สังคมเริ่มเผชิญกับพฤติกรรมการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) ที่เพิ่มขึ้นคืออิทธิพลจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักเรียก "โรคโควิด-19" ต่อหน้าสาธารณะว่า "ไวรัสจีน" (The China Virus) และมักกล่าวโทษจีนว่าเป็นต้นกำเนิดของการระบาดโควิด-19 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของพฤติกรรมที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์อเมริกันมาช้านานนับตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 ในการใช้ เชื้อโรค สร้างความชอบธรรมให้กับการเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวชาวเอเชีย ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้เองสร้างแนวคิดและความเข้าใจให้กับชาวอเมริกันจำนวนมากว่า 'ชาวเอเชียนอเมริกัน' คือ 'ชาวเอเชียวันยังค่ำ' เป็นชาวเอเชียที่ต้องมาจากเอเชีย (ที่ต้องนำพาเอาเชื้อโรคเข้ามาในประเทศแน่ๆ) ไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่งที่เกิด โต และใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีสัญชาติอเมริกันเหมือนคนอเมริกันทั่วไป

ด้านแคมเปญต่อต้านความรุนแรงและการใช้ความเกลียดชังต่อชาวเอเชียนอเมริกันและแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander) ซึ่งเรียกว่า "Stop AAPI Hate" ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 19 มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 เพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสารถึงกรณีการทำร้ายและใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจาก โรคการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และพฤติกรรมการแสดงความเห็นหรือความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล (Bigotry) ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-31 ธ.ค. 2563 มีรายงานกรณีการเหยียดเชื้อชาติต่อชาวเอเชียนอเมริกันมากถึง 2,808 ครั้ง

AFP - เหยียดเชื้อชาติ สหรัฐฯ เอเชียนอเมริกัน