สงวน วงศ์สุชาต เจ้าของโรงเรียนเสริมหลักสูตร (SLS) ประกาศขายตึกเรียนมูลค่า 80 ล้านบาท ย่านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร หลังเผชิญหน้ากับหลายปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจ
“ผมปรับมาเรียนออนไลน์แล้วครับ” อาจารย์สงวนของลูกศิษย์นับแสนคน วัย 75 ปีบอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’
จากโรงเรียนสอนพิเศษทรงอิทธิพล ในช่วงปี พ.ศ.2520–2540 เด็กๆ นักศึกษายืนเข้าคิวยาวเหยียดหลายร้อยเมตรเพื่อให้ได้เข้าเรียน ใครจะเชื่อว่า 43 ปีต่อมา อ.สงวน กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองและทีมงานอยู่รอด
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ รร.เสริมหลักสูตร อ.สงวนฯ ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน รวมถึงวิกฤตโควิด-19
“ยอดตกไปอย่างหายห่วงเลยครับ” เขาบอก “สุดๆ เลย ลองเทียบดูแล้วกันว่า ปกติรายได้วันละ 2-3 แสนบาท บางวันได้เป็นล้าน แต่ตอนนี้แค่หลักแสนต่อเดือนยังลำบากเลย”
ความนิยมต่อ รร.เสริมหลักสูตร อ.สงวนฯ ถดถอยลงตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน
"สมัยที่รุ่งเรืองมากๆ รายได้มากมหาศาล แต่ละเย็นนับเงินจนมือหงิก จนบอกว่าชีวิตเรานี่แย่แล้วนะ มานั่งนับแต่เงิน หมดเวลาไปกับการนับเงินทุกเย็น ทุกค่ำ ฉะนั้นเวลาที่ใครอวยพรให้มีความร่ำรวย ผมบอกว่าขอมีความสุขดีกว่า ผมนั่งภาวนาขออย่าให้ผมต้องมานั่งนับเงินอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เลย เพราะว่าชีวิตสูญเปล่า
"แต่ปัจจุบันน่าเศร้าเหลือเกินครับ เพราะคนเรียนน้อยมาก และเริ่มน้อยมาตั้งแต่ผมอายุ 60 ดูเสมือนกับว่า โชคชะตาเขากำหนดว่า คุณน่ะเกษียณได้แล้ว เริ่มไม่มีเงินเพียงพอจะจ่ายเงินเดือน ลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เงินเข้ามาใช้กันไม่หวาดไม่ไหว ทำบุญทีหนึ่ง 5 ล้าน ปีหนึ่งบริจาค 10 กว่าล้าน
"ช่วงหลังผมถึงได้รู้ว่า พอไม่มีเงินก็ไม่มีความสุข...มันมาคู่กัน"
ปัจจุบัน ‘สงวน’ มีภาระต้นทุนเดือนละหลายแสนบาท ยังไม่นับรวมหนี้สินอีกหลายล้าน หลังจากปรับเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ เขารีดไขมันองค์กรเหลือพนักงานแค่ 3 คน รวมตัวเอง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จัดหน้าเข้าเล่มหนังสือ แปลงไฟล์อัปโหลดข้อมูลเพื่อเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย
“ลูกน้องทำกันหลายตำแหน่ง เพราะทุกคนรู้แล้วว่าถ้าไม่ช่วยก็ไม่รอด” เขาบอก
“ออนไลน์เราไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก ไม่ต้องใช้พนักงานเยอะ ตอนนี้หวังว่า ลูกศิษย์เก่าๆ จะช่วยพูดถึงกระจายข่าว อาจจะกระเตื้องขึ้นอีกระดับ แต่ไอ้ที่จะหวือหวา ไม่ต้องหวัง เอาแค่พอกินข้าว เลี้ยงลูกน้องที่เหลืออยู่ ผ่อนชำระหนี้ได้ก็บุญแล้วครับ”
เมื่อราว 30 ปีก่อน รร.เสริมหลักสูตร อ.สงวนฯ เข้าขั้นพีคสุดขีด มีหลากหลายสาขาตามจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะที่เสาชิงช้า มีเด็กๆ ต่อแถวยาวเหยียดเป็นร้อยเมตรถึงหน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ ความนิยมสูงลิบถึงขนาดสถานีโทรทัศน์จากประเทศญี่ปุ่นมาขอถ่ายทำสัมภาษณ์พิเศษ
นอกจาก รร.สอนภาษาอังกฤษ อ.สงวน ยังมี รร.สอนคอมพิวเตอร์ เป็นเจ้าของโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทันสมัย ราคานับ 10 ล้านบาท ครอบครองคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มและแอปเปิลหลายร้อยเครื่อง
“สมัยนั้นมีแต่คนเฉลยข้อสอบเอ็นทรานซ์ผิดๆ ผมเลยทำการเปิดสอนและชี้ให้นักเรียนเห็นว่ามันผิดนะ อย่าเชื่อนะ เลยกลายเป็นที่นิยมของนักศึกษาเพราะว่าเรามีเหตุผลที่หักล้างได้”
ในอดีต รร.เสริมหลักสูตร อ.สงวนฯ เปิดสอนวันละ 3 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง มีคนมาเรียนรวม 2,000 คน เท่ากับว่าวันหนึ่งจะมีคนหมุนเวียนในตึกมากถึง 6,000 คน ตัวเลขต่างกับวันนี้ราวฟ้ากับเหว เมื่อเหลือเพียง 3-5 คนเท่านั้น
เขาวิเคราะห์ว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความนิยมของโรงเรียนลดน้อยลง คือกระแสของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ชอบสไตล์การสอนแบบคนรุ่นเก่า ที่เน้นความเข้มข้นทางด้านวิชาการ รวมถึงมีตัวเลือกที่น่าสนใจและถูกรสนิยมกว่า นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษได้ง่ายดายเมื่อเทียบกับอดีต
“ผมอาศัยบุญเก่า อาศัยลูกศิษย์ แนะนำลูกๆ มานั่งเรียน มาเฝ้าลูกเลย กลัวลูกจะไม่เรียน เพราะถ้าให้ลูกนั่งเรียนคนเดียวลูกก็หนี พ่อแม่ต้องนั่งเรียนไปด้วย เรียนสักพักใหญ่ๆ ลูกก็จะติด แล้วจะเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องบังคับ” เขาหยุดและพูดถึงสถานการณ์ของตัวเอง
“หนักครับหนัก”
อ.สงวน พยายามปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรตามสไตล์ของตัวเอง โดยเน้นหนักไปทางด้านวิชาการ การค้นคว้า และเผยแพร่ข้อมูลที่มีคุณภาพ
“พยายามทำนะ แต่เมื่อดีมานด์มันน้อยก็ทำให้ท้อนะครับ บางทีทำไปแล้วไม่คุ้มกับค่าแรงงาน เด็กอาจจะมองว่าหลักสูตรของผมราคาแพงกว่าที่อื่น บางที่เริ่มต้น 3,000 บาท ที่นี่เริ่มต้นอย่างน้อย 5,000 บาทแล้ว แต่ในความเป็นจริง คุณภาพของวิชาการต่างกันมาก กว่าจะมาสอนแต่ละครั้ง ผมเตรียมตัวอย่างหนัก ค้นคว้ามาอย่างมาก
“จะสอน 2 ชั่วโมง ผมเตรียมตัวบางที 10 ชั่วโมง หรือเป็นวันๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามันมีคุณภาพเต็มที่แล้วถึงจะนำมาปล่อยและผมไม่ได้สอนอันเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมจะมีแต่ข้อมูลใหม่ๆ มาสอนตลอดเวลา”
ชายวัย 75 ปี ยังทำงานหนัก นอนดึกตี 3 ตี 4 ทุกคืน เพื่อพิถีพิถันกับตำราและผลงาน
“ของผมดูแล้วแพง แต่ถ้าเรียนแล้วมันคุ้มค่าครับ” เขามั่นใจ
“มันหมดยุคของผมแล้วนะครับ” อ.สงวนบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
“ทุกอย่างเป็นไปตามวัฏจักร มีคลื่นลูกใหม่มาทดแทน ผมเองก็ก้าวขึ้นมาด้วยการทำให้คนรุ่นเก่าสูญหายไป คนรุ่นใหม่เขาก็ทำให้ผมสูญหายไปเช่นกัน”
เป้าหมายของชายวัย 75 ปี ยังคงเหมือนเดิมคือการทำงานหนัก พัฒนาหลักสูตรเผยแพร่ในวงกว้างให้มากที่สุด
“สิ่งที่ผมทิ้งไว้เหมือนเป็นมรดก เป็นวิธีการสอนแบบหนึ่งที่เคยประสบความสำเร็จ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ เห็นอันไหนเป็นประโยชน์ก็อาจนำไปปรับใช้ได้”
หัวใจที่ยังรักและความต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ขับเคลื่อนให้ อ.สงวน ไม่มีวันหยุดนิ่ง
“ชีวิตมันอุทิศให้กับการสอนหนังสือ งานวิชาการมาแล้ว ทุกวันต้องมีการค้นคว้า วิจัย แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ตลอด บางอย่างผมสอนครั้งเดียว ผมทิ้งเลย เพราะผมไม่อยากเป็นหุ่นยนต์ อยากทำให้ตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ ไม่อยากทำอะไรซ้ำซาก เพื่อให้เกิดความแตกฉาน
“ผมโชคดีหน่อยหนึ่ง สุขภาพยังโอเคครับ จะพยายามทำงานต่อไปเพราะว่าถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลด้วย”
อ.สงวน เคยมีเงินสด ทรัพย์สินนับร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตามเขาจำเป็นต้องขายมันชิ้นแล้วชิ้นเล่าเพื่อเสริมความคล่องตัวและเอาตัวรอดทางธุรกิจ จนกระทั่งวันนี้เหลือเพียงแค่บ้านและตึกเรียน 2 แห่ง คือ ที่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมมารวย ถนนพหลโยธิน 40 และเสาชิงช้า ที่เขาตั้งราคาไว้ที่ 80 ล้านบาท หวังนำไปปลดภาระหนี้สินและต่อยอดโอกาส
“เงินทองอยู่กับเราไม่นานหรอกครับ มันไปได้รวดเร็วมาก จริงๆ ไม่มีอะไรแน่นอนเลย ทุกอย่างมีขึ้นมีลง ต้องยอมรับความจริงครับ”
เกร็ดประวัติ
ภาพจาก Jaroon Benjacharoenkul