ไม่พบผลการค้นหา
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง สรุปภาพรวมหนังอินดี้ของทั้งไทย-เทศ การเกิดขึ้นของโรงหนังทางเลือกในเมืองกรุง ไปจนถึงโอกาสที่หนังเกาหลีอย่าง Parasite ลุ้นออสการ์

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 (หรือ 10 กุมภาพันธ์ ตามเวลาบ้านเรา) จะเป็นวันประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 อันเป็นดั่งบทสรุปของวงการภาพยนตร์ปี 2019 ก่อนจะมูฟออนไปสู่ปี 2020 ทว่าพูดกันตามตรงแล้วออสการ์ปีนี้ค่อนข้างน่าเบื่อ โดยเฉพาะสายนักแสดงที่แทบจะล็อคผลมาแล้วในสูตร วาคีน ฟินิกซ์ (Joker), เรเน่ เซลเวเกอร์ (Judy), แบรด พิตต์ (Once Upon A Time in Hollywood) และ ลอร่า เดิร์น (Marriage Story) อาจจะมีลุ้นที่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมว่าจะเป็น 1917 หรือไม่ และหนังเรื่อง Parasite จะไปได้ไกลแค่ไหนจากการชิง 6 สาขา

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ผู้เขียนขอมองไปอีกฝั่งของวงการภาพยนตร์นั่นคือเหล่า ‘ภาพยนตร์ทางเลือก’ หรือจะเรียกว่าหนังอินดี้หรือหนังอาร์ตก็แล้วแต่ เริ่มด้วยบรรยากาศของวงการหนังทางเลือกบ้านเราในปี 2019 ที่ถือว่าคึกคักมาก ด้วยการเปิดตัวของโรงหนัง House Samyan ที่จำนวนโรงและรอบฉายเยอะขึ้น เดินทางสะดวกกว่าเดิม มีโปรแกรมเด็ดที่การฉายหนังคลาสสิกหลายเรื่อง เช่น Days of Being Wild (1990) ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ส่วน Lido Connect แม้จะมีปัญหาเรื่องระบบเสียงที่แก้ไม่ตก แต่ทางโรงปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นด้านอีเวนต์ เช่น การฉาย ‘ดิวกันไปด้วยกันนะ’ พร้อมพูดคุยกับผู้กำกับ หรือคลาสวิเคราะห์บทหนัง The Farewell หลังดูหนังจบเป็นต้น

สำหรับตำแหน่งผู้จัดจำหน่ายคนขยันแห่งปี 2019 ต้องยกให้กับ Documentary Club ที่นอกจากซื้อหนังสารคดีมาฉายในบ้านเรามากมาย ยังเอาหนังคลาสสิกมาฉายด้วย อีเวนต์ฮือฮาที่สุดน่าจะเป็นการเอา Solaris ของอังเดร ทาร์คอฟสกี้ มาฉายโรง (ซึ่งฉายได้เพียงสองรอบเพราะหนังแพงมาก) ส่วนฝั่ง HAL Distribution ก็เอา Ran หนังมหากาพย์ของอากิระ คุโรซาวะในแบบ 4K เข้าโรง

ถึงกระนั้นเหล่าผู้จัดจำหน่ายหนังทางเลือกก็ยังต้องประสบกับปัญหาเดิมๆ คือความมั่นใจจากทางโรงหนัง ที่ไม่เชื่อว่าหนังประเภทนี้จะขายได้หรือมีคนดู จึงมักให้โรงขนาดเล็กหรือรอบฉายน้อยๆ มา (แต่สำหรับหนังบางเรื่องดีมานด์คนดูก็สูงจนต้องขยายโรงและเพิ่มรอบ) อีกปัญหาค้างคามาช้านานคือการฉายหนังทางเลือกมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น แม้จะมีการฉายตามหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ หาดใหญ่ โคราช ก็มักจะเป็นการฉายเฉพาะกิจเพียงรอบเดียว

ในระดับสากล A24 ค่ายหนังอินดี้มือทองที่เคยไปถึงจุดพีคด้วยการดันให้ Moonlight คว้าออสการ์ช่วงนี้อาจดูฟอร์มตกไปบ้าง อาจเพราะปี 2019 ค่ายมีแต่หนังอาร์ตเฮี้ยนๆ ไปเสียเยอะ ทั้ง Midsommar และ The Lighthouse ที่ไม่ใช่รสนิยมของออสการ์ ส่วนหนังพอจะแมสหน่อยอย่าง The Farewell กลับไม่ชิงออสการ์สักสาขา ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าคุณภาพหนังของ A24 ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่การพาหนังไปเวทีออสการ์ได้ก็ช่วยสร้างโปรไฟล์และอัพมูลค่าหนังได้ เรียกได้ว่าจะอินดี้แค่ไหนก็ต้องกินต้องใช้

ค่ายหนังมาแรงที่สุดตอนนี้กลายเป็น NEON ผู้จัดจำหน่าย Parasite ในอเมริกาและทำให้หนังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาได้ แถมยังมีการโปรโมตแสนชาญฉลาด เช่นการทำให้เพลง Jessica, only child กลายเป็นไวรัลได้ซะงั้น นอกจากนั้น NEON ยังดัน Honeyland สารคดีคนเลี้ยงผึ้งจากมาร์เซโดเนียชิงออสการ์ทั้งสาขาสารคดีและภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม เล่นเอาคนเหวอทั้งวงการ

ทีนี้ถ้ามาดูภาพยนตร์เป็นรายเรื่อง ก็จะขอจับภาพรวมด้วยท็อปเท็นหนังปี 2019 ของเหล่านิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังที่เน้นด้านหนังทางเลือก โดย Film Comment จากสหรัฐอเมริกา เลือกให้ Parasite เป็นหนังอันดับหนึ่ง แม้จะได้รางวัลปาล์มทองจากคานส์-เทศกาลหนังอาร์ตอันดับหนึ่งของโลก แต่ Parasite กลับเป็นหนังที่ดูสนุกและเข้าถึงธีมของหนังได้ไม่ยาก (คือไม่ต้องมานั่งเกาหัวแล้วถามกันว่าหนังต้องการสื่ออะไรหว่า)

โดยปกติแล้วหนังว่าด้วยความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นมักเข้าข้างคนจนและให้ภาพที่ชั่วร้ายแก่คนรวย สิ่งที่ดีคือ Parasite ไม่ได้เลือกใช้วิธีการนั้น เพราะมันว่าด้วยการปะทะกันระหว่างคนจนและคนที่จนกว่า ส่วนเหล่าชนชั้นสูงไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไร ใช้ชีวิตรวยๆ ของตัวเองไป และเอาเข้าจริงพวกเขาก็เป็นคนนิสัยดีใช้ได้ แต่หนังต้องการแสดงให้เห็นว่าการเอาตัวลอยอยู่เหนือปัญหาหรือความไม่รับรู้ปัญหา ไม่หือไม่อือ (Ignorance) นี่เองที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง

ความตลกร้ายคือสาเหตุที่หนังว่าด้วยคนจนอย่าง Parasite สามารถไปไกลถึงเวทีออสการ์ได้ก็เพราะว่า CJ Entertainment ค่ายหนังที่เป็นนายทุนนั้นรวยมาก! เชื่อกันว่า CJ ทุ่มเงินไม่อั้นสำหรับการโปรโมท Parasite ในอเมริกา เราจึงได้เห็นทั้งผู้กำกับ ทีมงาน และนักแสดง เดินสายในอเมริกาอย่างยาวนาน, บองจุนโฮได้ไปออกรายการ จิมมี แฟลลอน, อีเวนต์มากมายที่ต่อยอดจากหนัง (ล่าสุดถึงขั้นมีคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าจัดที่ลอสแอนเจลิส) Parasite จึงเป็นหลักฐานชั้นดีถึงส่วนผสมชั้นยอดของ ‘หนังที่ดี’ กับ ‘ค่ายที่รวย’

ด้านนิตยสารจากอังกฤษ Sight & Sound ก็ให้ The Souvenir ของผู้กำกับหญิง โจแอนนา ฮอกก์ เป็นหนังแห่งปี ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ถูกแซะอยู่พอสมควร ทั้งข้อหาชาตินิยมเพราะมันเป็นหนังสัญชาติอังกฤษ อีกทั้งหนังยังมีความส่วนตัวสูงมาก จนนักวิจารณ์บางส่วนไม่ค่อยชอบหนังนัก

The Souvenir สร้างโดยอิงจากประสบการณ์ของผู้กำกับสมัยที่เธอเป็นนักเรียนหนังในช่วงต้นยุค 80 และความสัมพันธ์ของเธอกับชายที่อายุมากกว่า แม้ว่าหนังจะชวนหงุดหงิดใจอยู่บ้างที่นางเอกยอมปล่อยให้พระเอกเอาประโยชน์จากเธออย่างไม่รู้จบ แต่หนังก็ได้รับคำชมถึงการนำเสนอความรักอันเปราะบาง การจับบรรยากาศของประเทศอังกฤษในอดีต ร่วมถึงการถ่ายภาพที่เลือกใช้ฟิล์ม 16 มม.

ถึงคุณภาพหนังอาจจะน่ากังขาอยู่ข้าง แต่สิ่งที่ทุกคนยอมรับคือการแสดงของ ฮอเนอร์ สวินตัน เบิร์น (ลูกสาวของ ทิลด้า สวินตัน) ที่เล่นหนังเป็นครั้งแรก แถมยังเจอวิธีกำกับสุดพิสดาร กล่าวคือนักแสดงทุกคนจะได้อ่านบท แต่นางเอกจะเป็นไดอารี่สมัยสาวๆ ของผู้กำกับแทน สวินตัน เบิร์น ต้องใช้วิธีด้นสดทั้งเรื่อง ส่วนนักแสดงคนอื่นถูกขอร้องให้ไหลตามน้ำไปกับเธอ แต่กระบวนการนี้กลับออกมาเวิร์คอย่างน่าระหลาดใจ

ปิดท้ายด้วย Cahiers du Cinema นิตยสารภาพยนตร์เก่าแก่จากฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องรสนิยมที่ไม่เหมือนใคร ตัวเลือกของพวกเขายังสร้างความเซอร์ไพรส์เช่นเดิม เมื่อประกาศออกมาว่าอันดับหนึ่งคือ The Image Book โดยฌ็อง-ลุค โกดาด์ ผู้กำกับวัย 89 ปีและเป็นคนทำหนังกลุ่มฝรั่งเศสคลื่นลูกใหม่ (French New Wave) เพียงไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่

เช่นเดิมกับงานยุคหลังของโกดาด์ที่เน้นการทดลองและมีลักษณะแบบ Video essay หนังของโกดาด์ไม่สามารถทำความเข้าใจด้วยไวยากรณ์ทางภาพยนตร์ที่เราคุ้นชิน มันเต็มไปด้วยการตัดแปะ (collage) ฟุตเทจจากหนังเก่าๆ (มีตั้งแต่หนังเงียบไปจนถึงหนังของ ไมเคิล เบย์) วิดีโอจากกลุ่ม ISIS และข่าวเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง

ประเด็นของโกดาด์ในเรื่องนี้คือการนำเสนอถึงความรุนแรงของโลกอาหรับนั่นเอง เหตุที่เขานำมันมายำกับคลิปจากหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เพื่อบอกว่าโลกภาพยนตร์ได้นำเสนอเรื่องความรุนแรงมาเป็นร้อยปีแล้ว หากแต่มนุษย์เราก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ เราต่างล้มเหลวทั้งในฐานะศิลปิน คนทำหนัง สื่อมวลชน และมนุษย์

ซึ่งนี่เป็นความเก๋าจนน่ากราบของโกดาด์ที่ช่วงหลังมาเขาไม่ได้ทำหนังเพียงเพื่อวิพากษ์สังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์ ภาษาภาพยนตร์ และประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปในคราวเดียวกัน


10 อันดับภาพนตร์ยอดเยี่ยมจากนิตยสารต่างๆ

Film Comment

1. Parasite

2. The Irishman

3. Once Upon a Time... in Hollywood

4. Transit

5. Atlantics

6. The Souvenir

7. High Life

8. Ash Is Purest White

9. Pain and Glory

10. Uncut Gems


Sight & Sound

1. The Souvenir

2. Parasite

3. The Irishman

4. Once Upon a Time… in Hollywood

5. Portrait of a Lady on Fire

6. Pain and Glory

7. Atlantics

8. Bait

9. Us

10. Vitalina Varela


Cahiers du Cinema

1. The Image Book                            

2. Parasite                           

3. Synonyms                       

4. Bacurau                          

5. Jeanne (Joan of Arc)     

6. Pain and Glory                              

7. Les Miserables                              

8. The Mule                         

9. Joker                                

10. The Irishman