เมื่อช่วง พ.ย. 2562 ชาวกาตาลันนับพันคนได้ออกมารวมตัวประท้วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนแคว้นกาตาลูญญา ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ในการเสด็จฯ เป็นองค์ประธานมอบรางวัล Princess of Girona Awards ที่นครบาร์เซโลนา พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ประกอบด้วยสมเด็จพระราชินีเลติเซีย เจ้าหญิงเลโอนอร์ เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส องค์รัชทายาทแห่งสเปน
การเคลื่อนไหวครั้งนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและผู้ประท้วงวัยผู้ใหญ่ที่เป็นชาวกาตาลันโดยกำเนิด ต่างพร้อมใจออกมาชุมนุมตามถนนสายหลักของนครบาร์เซโลนา โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับศูนย์ประชุมปาเลา เด คอนเกรสโซส เด กาตาลูญญา พร้อมชูป้ายประท้วงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการตีหม้อเคาะภาชนะ รวมถึงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 มีการเผาธงชาติสเปน โดยผู้ชุมนุมต่างโบกธงชาติเอกราชกาตาลูญญาแทน
การประท้วงครั้งนั้น นอกจากที่กลุ่มผู้ประท้วงจะชุมนุมใกล้สถานที่จัดงานซึ่งราชวงศ์สเปนเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ผู้ชุมนุมบางส่วนยังได้พยายามปิดกั้นเส้นทางเพื่อขัดขวางผู้ที่จะเข้าร่วมงานพระราชทานรางวัล แต่สุดท้ายแขกก็สามารถเข้าร่วมงานได้ในที่สุด ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การเคลื่อนไหนดังกล่าว จบลงด้วยเหตุการณ์สงบ ไม่ได้มีเหตุรุนแรง หรือการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงไม่ได้มีรายงานการตามจับกุมชาวกาตาลันที่ออกมาชุมนุมประท้วงแต่อย่างใดเช่นกัน
เออร์เนส มารากัลล์ แกนนำกลุ่มสนับสนุนเอกราชรัฐกาตาลูญญา กล่าวว่า "ที่ชาวกาตาลันชุมนุมวันนี้ เพราะต้องการให้กาตาลูญญาเป็นสาธารณรัฐ นั่นคือประชาธิปไตยที่แท้จริงของชาวกาตาลัน กษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีค่าใดๆ ในสายตาเราอีกแล้ว"
ด้านสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ทรงรับทราบถึงความไม่พอใจของชาวกาตาลันที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเป็นภาษาถิ่นกาตาลัน ในงานพระราชทานรางวัลดังกล่าวว่า "เราจะไม่มีการใช้ความรุนแรง ดูถูก หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น" เช่นเดียวกับเจ้าหญิงเลโอนอร์ มกุฏราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเป็นภาษาถิ่นเช่นกัน ความว่า "ตั้งแต่เยาว์วัยข้าพเจ้าและน้องสาว เจ้าหญิงโซเฟีย ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกาตาลูญญาจากพระราชบิดาและพระราชมารดา ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณพวกเขาที่ทำให้เราได้รู้เรื่องราวหลายอย่างทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกาตาลัน ดินแดนกาตาลูญญาแห่งนี้จะเป็นสถานที่พิเศษในใจของข้าพเจ้าเสมอ"
กระแสการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์สเปนในแคว้นกาลูญญาขยายวงกว้างมากขึ้น สืบเนื่องจากกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ที่ทรงกล่าวออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติในคืนวันที่ 4 ต.ค. 2560 ถึงการลงประชามติแยกตัวเป็นรัฐเอกราชของแคว้นกาตาลูญญา
พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า การลงประชามติเอกราชนั้นเป็นการล่วงเกินประชาธิปไตย และเอกภาพของสเปน การลงประชามติดังกล่าวยังไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสเปน
"เราทุกคนต่างเป็นพยานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกาตาลูญญา โดยรัฐบาลท้องถิ่นมีเป้าหมายสุดท้ายในการประกาศเอกราชอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาพยายามทำลายเอกภาพของสเปน และอธิปไตยของชาติอันเป็นสิทธิของทุกคน ชาวสเปนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยร่วมกัน เป็นความรับผิดชอบตามอำนาจอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องปกป้องนิติบัญญัติและการปกครองตนเองในกาตาลูญญา" พระองค์ทรงกล่าวหาว่า ผู้นำฝ่ายแบ่งแยกดินแดนกาตาลูญญาทำลายหลักการประชาธิปไตยและก่อให้เกิดความแตกแยก
เพียงไม่นานหลังพระราชดำรัส สื่อท้องถิ่นหลายสำนักและประชาชนหลายส่วนล้วนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า พระราชดำรัสดังกล่าวยิ่งสร้างบาดแผลและทำร้ายจิตใจของชาวกาตาลูญญาลงไปอีก ส่งผลให้กระแสการต่อต้านสถาบันในแคว้นมีมากขึ้น
กาเบรียล รูเฟียน ผู้นำพรรคสาธารณรัฐกาตาลูญญา (ERC) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย ทั้งยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติสเปน กล่าวโจมตีว่า ทรงเข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายขวา โดยที่ไม่สนใจประชาชนชาวกาตาลันที่ออกไปลงคะแนนเสียง
"เราจะทำให้ชัดเจน กระบวนการเป็นสาธารณรัฐของกาตาลูญญานั้นเป็นแนวทางตามประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์หมดความชอบธรรมใดๆ ในสายตาของชาวกาตาลันแล้ว" กาเบรียลกล่าว
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวกาตาลันมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์เฟลิเปที่ 6 เพื่อแสดงการประท้วง แต่การต่อต้านเริ่มตั้งแต่ มี.ค. 2561 หลังจากที่คาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ผู้นำพลัดถิ่นของแคว้นคาตาลูญญาซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชจากสเปน ถูกจับกุมตัวในเยอรมนีตามหมายจับของสหภาพยุโรป ในข้อหากบฏและยุยงปลุกปั่นให้ผู้คนลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐ
แม้กระแสความเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของแคว้นกาตาลูญญาในปัจจุบันจะไม่เข้มข้นเทียบเท่ากับปี 2561 แต่ชาวกาตาลันส่วนใหญ่ยังคงไม่นิยมชมชอบในราชวงศ์สเปน สังเกตได้จากในทุกการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชาวกาตาลันออกมาประท้วงการเดินทางเยือนบาร์เซโลนาของนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ผู้ชุมนุมต่างชูภาพสัญลักษณ์รูปมงกุฏคว่ำ อันสื่อความหมายถึงการแสดงจุดยืนปฏิเสธราชวงศ์ เช่นเดียวเมื่อกลางเดือน ก.พ.2564 ที่ผ่านมา กลุ่มศิลปินในบาร์เซโลนาได้พ่นสีเป็นภาพกราฟิตี้ล้อเลียนสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 พระราชบิดาที่สละราชสมบัติ และนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก อดีตผู้นำเผด็จการ ผู้ซึ่งสถาปนาระบอบกษัตริย์ของสเปนขึ้นมาใหม่
ที่มา: El Pais , Reuters , Royalcentral