ไม่พบผลการค้นหา
'พรรคเป็นธรรม' รุดลงพื้นที่ 'บ้านบาตูฆอ' อ.กรงปินัง จ.ยะลา จี้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมแหล่งหิน ไม่ให้ประทานบัตรเอกชนทำเหมืองพบจะกระทบชาวบ้านหลายพันคน แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญถ้ำหินอายุกว่า 2,000 ปีถูกทำลาย

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พร้อมด้วย ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม อับดุลเลาะ สิเดะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ยะลา ยามารุดดีน ทรงศิริ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ยะลา และรองโฆษกพรรค มูฮัมหมัดกัดดาฟี กูนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ปัตตานี ลงพื้นที่ บ้านบาตูฆอ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านบาตูฆอ นำโดยมะยูโซะ สาและ กรณีเอกชนเร่งขอประทานบัตรอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของประชาชน 

มะยูโซะ บอกว่า จะมีชาวบ้านกว่า 1,600 คน ในบ้านบาตูฆอ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินิง และจะรวมไปถึงชาวบ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากมีการอนุญาตสร้างอุตสาหกรรมเหมืองหิน และระเบิดถ้ำบาตูฆอ ซึ่งเป็นถ้ำหินอายุกว่า 2,000 ปี เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของ จ.ยะลา

"ถ้ำหินที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมถนนบ้านบาตูฆอ เรียกว่าถ้ำบาตูฆอ เป็นทั้งถ้ำหินโบราณอายุกว่า 2,000 ปี พบว่าเป็นหินรุ่นราชบุรี ภายในมีหินงอก หินย้อย และน้ำตกที่สวยงาม นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวบ้าน ที่อยู่ในคำขวัญของ อ.กรงปินัง เป็นสถานที่ที่ควรหวงแหนไว้ แต่ชาวบ้านตกใจมากที่มารู้ว่ามีเอกชนได้เข้ามาเร่งรัดขอประทานบัตรทำเหมืองหิน ทั้งๆ ที่เคยมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนมีมติไปแล้วว่าไม่อนุญาตให้ทำประทานบัตร"

มะยูโซะ กล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านบาตูฆอเป็นทุกข์อย่างหนัก เพราะทราบว่าเอกชนกำลังเร่งรัดให้มีการอนุญาตทำประทานบัตร โดยเฉพาะพื้นที่ขอสัปทาน คำขอที่ 3/2556 ที่จะต้องระเบิดถ้ำบาตูฆอ พบว่า มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นตั้งแต่ปี 2558-2559 จนถึงปี 2560 มีการรับฟังอีกครั้ง แต่ประชาชนไม่อนุญาตทำประทานบัตร เพราะนอกจากการสูญเสียถ้ำบาตูฆอแล้ว ผลกระทบจากการระเบิดหิน ซึ่งเป็นภูเขาความสูง 182 เมตร ความยาว 1.2 กม. ที่จะทำให้มีฝุ่นแล้ว จะเป็นการทำลายแหล่งน้ำ พื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในหน้าแล้ง ใน อ.เมืองยะลา เกิดภัยแล้ง แต่ที่บาตูฆอ ไม่แล้งเพราะมีแหล่งน้ำในถ้ำหินด้วย 

มะยูโซะ บอกด้วยว่า เขาอายุ 32 ปี เกิดที่หมู่บ้านนี้ เพราะพ่อเป็นผู้เริ่มเข้ามาตั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่มีการประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก.ในพื้นที่คำขอสัปทานมีการระบุว่าไม่ทับถนน ทั้งๆที่พื้นที่คำขอตั้งอยู่บนถนนทางหลวง เป็นถนนที่ใช้มาตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านนี้ และทาง อบจ.ได้มาพัฒนาในปี 2540 ระยะทางกว่า 10 กม. และยังจะเป็นถนนที่ใช้สัญจรผ่าน อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา ไปยัง อ.เบตงด้วย

"มีการประกาศให้พื้นที่บาตูฆอ เป็นแหล่งหิน เนื้อที่ 1,400 ไร่ คลอบคลุมใน อ.กรงปินัง อ.ยะหา ตั้งแต่ปี 2536 และเป็นพื้นที่ สปก.ตั้งแต่ปี 2530 ชาวบ้านก็ได้มาบุกเบิกทำการเกษตร รวมถึงพ่อของผมก็มาอยู่ที่นี่เป็นรุ่นบุกเบิก จนชาวบ้านมารู้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีเอกชนมายื่นคำขอ ถึง 5 คำขอ กระทบกับบ้านบาตูฆอ จะมีผู้ได้รับผลกระทบ กว่า 1,600 คน"

กัณวีร์ เปิดเผยว่า การให้สัมปทานก่อนการสำรวจไม่ควรเกิดขึ้น พรรคเป็นธรรม เราไม่ปฏิเสธการพัฒนา ยอมรับว่าจำเป็น แต่ต้องเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ใช่การพัฒนาที่ผิดโครงสร้าง โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วอาจทำได้ แต่ปัจจุบัน ต้องไม่เอาการพัฒนาเสริมความมั่นคง ประชาชนไม่ได้ถูกมอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา พรรคเป็นธรรมจะให้ความสำคัญตรงนี้

"พรรคเป็นธรรมจะเดินหน้าในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศพื้นที่เหมืองหิน และยกเลิกการขอประทานบัตร ตามที่ชาวบ้านบาตูฆอ ไม่เห็นด้วย และต้องผลักดันให้มีการเห็นคุณค่าของพื้นที่ฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน และเสียงของประชาชนต้องสำคัญ" กัณวีร์ กล่าวย้ำ

ขณะที่มูฮัมหมัดกัดดาฟี ซึ่งเคยทำงานในกลุ่ม Patani Resources และติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าชาวบ้านไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จากทางราชการ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้มีการลงพื้นที่รับฟังชาวบ้านที่แท้จริง ทั้งๆ ที่รัฐต้องรู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีฐานทรัพยากรที่มากมาย ถ้ามีการระเบิดหินจะสูญเสียมาก ก่อนจะพัฒนาจึงต้องมีการประเมินทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา

ฮากิม เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรมจะเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และทางอำเภอกรงปินังต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้ำบาตูฆอ เป็นคำขวัญของอำเภอกรงปินัง เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ จึงต้องยกเลิกประกาศพื้นที่เหมือง

ขณะที่อับดุลเลาะ ยืนยันว่าจะร่วมเคียงข้างชาวบ้านบาตูฆอ คัดค้านการขอประทานบัตร หยุดการสร้างเหมืองในพื้นที่นี้อย่างถึงที่สุด ซึ่งการพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน