ไม่พบผลการค้นหา
จีนชูค่านิยมซ้ายสังคมนิยม เชือดธุรกิจเกมออนไลน์ จัดการเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์ ชี้หน้าโทษเป็นธุรกิจมอมเมาเยาวชน

สถานีวิทยุแห่งชาติจีน (China National Radio - CNR) รายงานว่า หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเรื่องการตรวจสอบการตรวจสอบเกมออนไลน์กำลังใกล้ "หมดความอดทน" ต่อบรรดานักพัฒนาเกมส์หลายรายที่นำบางส่วนของบุคคลสำคัญ หรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์จีน มาใส่ในเนื้อหา หรือตัวละครในเกมออนไลน์ โดยมีลักษณะบิดเบือนจากประวัติศาสตร์ 

CNR กล่าวว่าธุรกิจเกมมิงออนไลน์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศ ทว่าผู้พัฒนาเกมบางรายกลับทำให้เนื้อหาของเกมบิดเบือนจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้คนหนุ่มสาวที่นิยมเล่นเกมออนไลน์ดังกล่าว มีความเข้าใจเรื่องราว หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติแบบผิดๆ สื่อวิทยุจีนได้ยกตัวอย่างกรณีมีเกมบางเกมได้นำบุคคลซึ่งมีตัวตัวจริงในประวัติศาสตร์อย่าง 'งักฮุย' หรือ 'เยว่ เฟย์' (Yue Fei) นักรบคนสำคัญซึ่งมีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติจีน มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ เป็นแม่ทัพผู้ต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าจิน ทว่าในเกมดังกล่าวได้ให้ภาพหรือถูกทำให้ผู้เล่นเข้าใจว่า 'เยว่ เฟย์' เป็นนักรบที่อ่อนข้อหรือยอมจำนนแก่ศัตรู

การที่สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทผู้พัฒนาเกมมิงออนไลน์ ถือเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนมีแผน "จัดระเบียบ" อุตสาหกรรมเกมมิงออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่รัฐบาลจีนจัดระเบียบไปเรียบแล้วก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ระบบอีเพย์เมนต์ของยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิรซ์ อุตสาหกรรมบันเทิงทีวีซีรีย์ ไปจนถึงการสถาบันสอนพิเศษ เพื่อส่งเสริมค่านิยมสังคมนิยม และควบคุมในสิ่งที่นักวิจารณ์ของรัฐบาลปักกิ่ง เรียกเหล่านี้ว่าการขยายตัวของทุนนิยมโดยประมาท


"ฝิ่นมอมเมาเยาวชน"

ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากรอยเตอร์ที่ระบุว่า หนังสือพิมพ์ Economic Information Daily สื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งสื่อกระบอกเสียงของรัฐจีน ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ มีเนื้อหาโจมตีธุรกิจเกมมิงออนไลน์ว่าไม่ต่าง "ฝิ่นมอมเมาจิตญาญ" ที่เป็นอันตรายต่อเยาวชนของชาติ

เนื้อหาของบทความใน Economic Information Daily ได้ระบุเป็นการเฉพาะเจาะจงถึงเกม Honour of Kings ที่บริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) เป็นผู้พัฒนา โดยโทษว่าเกมนี้เป็นต้นต่อของปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อเยาวชน ทำให้เยาวชนสายตาสั้น ผลการเรียนตกต่ำเพราะเอาแต่เล่นเกมเพราะหมกมุ่นกับการเล่นเกม สื่อจีนอ้างการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนราว 2,000 คน บางรายยอมรับว่าเล่นเกมถึงวันละ 8 ชั่วโมง บางส่วนยังเรียกร้องให้รัฐเข้ามาควบคุมธุรกิจนี้ 

"ไม่ควรมีอุตสาหกรรม หรือกีฬาประเภทใด ที่ควรถูกอนุญาตให้บ่อนทำลายเยาวชนรุ่นใหม่ได้ขนาดนี้ นี่ไม่ต่างอะไรกับยาเสพติดอิเล็กทรอนิกส์" ตอนหนึ่งของบทความที่สื่อจีนระบุ 

ทันทีที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ ส่งผลให้ช่วงเช้าของวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทเทนเซนต์ ( Tencent) รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาเกมรายอื่นๆ อย่าง NetEase และ XD ดิ่งลงไม่น้อยกว่า 11% ไม่เพียงแค่บริษัทจีนเท่านั้น บริษัทเกมต่างชาติทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เข้าไปทำตลาดในจีน ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย มูลค่าหุ้นร่วงราว 10% 

Ke Yan นักวิเคราะห์จาก DZT Research ในสิงคโปร์ เผยกับบลูมเบิร์กว่า "คุณไม่อาจดูถูกบทความจากซินหัวได้เลยแม้แต่น้อย การที่สื่อของรัฐใช้คำว่าฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณเยาวชนนั้นเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนที่แข็งกร้าว คงแปลกไม่น้อยหากหลังจากนี้หน่วยงานด้านกำกับดูแลของจีนจะไม่ดำเนินการใดๆ" 

บริษัทเทนเซนต์ ซึ่งถูกพาดพิงดังกล่าว ชิงจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเองคือการออกแถลงการณ์ผ่านวีแชท (WeChat) ว่าจะมีมาตรการแบนไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีจ่ายเงินซื้อเติมเกม และจะออกมาตรกรจำกัดเวลาเล่นให้เด็กที่อายุต่ำกว่ากำหนดเล่นเกมได้วันละ 1.5 ชั่วโมงในวันธรรมดา และไม่เกิน 2 ชั่วโมงในวันหยุด พร้อมกับจะใช้ระบบยืนยันตัวตนผู้เล่นก่อนเข้าระบบรวมถึงตลอดเวลาที่เล่นเกม เพื่อไม่ให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่ากำหนดใช้เลขประจำตัวของพี่หรือผู้ปกครองที่อายุเกิน เข้าใช่ในการเล่นเกม ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้ให้บริการเกมออนไลน์อื่นๆ บังคับใช้มาตรการในลักษณะเดียวกัน

ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้เริ่มดำเนินการปราบปรามบริษัทเอกชนที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การต่อต้านการผูกขาดไปจนถึงความปลอดภัยของข้อมูล ขณะที่พยายามควบคุมอิทธิพลของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี โดยก่อนหน้าถึงคิวจัดการธุรกิจเกมออนไลน์นั้น รัฐบาลจีนออกคำสั่ง 'กวดวิชา' ห้ามสอนเนื้อหาเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหลีกเลี่ยงการกอบโกยกำไรจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อหาจาก Economic Information Daily นั้นได้ใช้คำสองคำซึ่งแสดงออกถึงท่าทีอันแข็งกร้าวคือ การเปรียบเปรยธุรกิจเกม เป็น "ฝิ่น" และ "ยาเสพติด" ที่มอมเมาจิตวิญญาณของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคำว่าฝิ่นที่มีนัยยะในเชิงประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงช่วงสงครามฝิ่น สะท้อนว่ารัฐจีนกำลังมองว่าธุรกิจเกมมิงออนไลน์ไม่ต่างอะไรกับศาสนาของคนรุ่นใหม่ที่มอมเมาเยาวชน รัฐจึงต้องใช้ค่านิยมแบบซ้ายสังคมนิยมในการจัดการกับหลายอุตสาหกรรม เพื่อไม่ปล่อยให้สังคมโน้มเอียงไปทางทุนนิยมมากเกินควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: Bloomberg , CNA , Reuters