ไม่พบผลการค้นหา
เรือสำราญ 'เวสเตอร์ดัม' ซึ่งถูก 5 ประเทศ/เขตปกครอง รวมไทย ห้ามเทียบท่า หวั่นพบเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 กำลังมุ่งหน้าไป 'สีหนุวิลล์' เมืองท่ากัมพูชา ส่วนผู้โดยสารบนเรือจะต่อเครื่องบินเช่าเหมาลำไปกรุงพนมเปญเพื่อหาทางกลับบ้าน

บริษัท ฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ หรือ HAL เจ้าของเรือสำราญ 'เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม' ซึ่งถูกฟิลิปปินส์ ไต้หวัน กวม ญี่ปุ่น และไทย ปฏิเสธไม่ให้เทียบท่า แถลงผ่านเว็บไซต์ของบริษัทว่า ขณะนี้เรือเวสเตอร์ดัมกำลังมุ่งหน้าไปยังน่านน้ำทะเลในจังหวัดพระสีหนุ หรือ 'สีหนุวิลล์' ของกัมพูชา โดยคาดว่าเรือจะถึงปลายทางประมาณ 07.00 น.วันที่ 13 ก.พ.2563 ตามเวลาท้องถิ่นกัมพูชา พร้อมย้ำว่า คำสั่งอนุมัติต่างๆ ได้รับการยืนยันเรียบร้อยแล้ว

ส่วนข้อความในทวิตเตอร์ของบริษัท @HALcruises ระบุด้วยว่า "พวกเรารู้สึกซาบซึ้งอย่างมากที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการกัมพูชา"


นอกจากนี้ แถลงการณ์ของ HAL ยังระบุด้วยว่า ผู้โดยสารจะได้ทยอยลงจากเรือที่สีหนุวิลล์ในเวลาไม่กี่วันข้างหน้า และทางบริษัทจะจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำพาผู้โดยสารออกจากสีหนุวิลล์ไปต่อเครื่องบินกลับภูมิลำเนา ณ สนามบินนานาชาติพนมเปญ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของบริษัท และผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบสามารถยื่นเรื่องขอคืนเงินจากทริปนี้ได้เต็มวงเงินที่จ่ายไปทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม กำหนดการสิ้นสุดเดินเรือเวสเตอร์เดิมจากเดิมที่จะต้องไปเทียบท่าเรือโยโกฮามะในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 15 ก.พ.ที่จะถึง ถูกยกเลิกไปแล้ว และยังไม่อาจระบุได้ว่าเรือเวสเตอร์ดัมจะไปเทียบท่าในประเทศใด เพราะที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นปฏิเสธเรือเวสเตอร์ดัมมาแล้วครั้งหนึ่ง

เสียงของผู้โดยสารเวสเตอร์ดัม: 'เรายังมีชีวิตอื่นที่อยู่นอกเหนือจากบนเรือลำนี้'

เรือเวสเตอร์ดัมเดินทางออกจากฮ่องกงเมื่อ 1 ก.พ. พร้อมผู้โดยสาร 1,455 คน และลูกเรือ 802 คน ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 แต่เรือสำราญซึ่งเป็นกิจการของเครือบริษัทเดียวกับเรือเวสเตอร์ดัม ถูกกักที่ท่าเรือโยโกฮามะของญี่ปุ่นไปจนถึงวันที่ 19 ก.พ. เพราะพบผู้ติดเชื้อไวรัสกว่า 135 คน ทำให้เรือเวสเตอร์ดัมถูกปฏิเสธจากหลายประเทศ

ทางการไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปฏิเสธการเทียบท่าของเรือเวสเตอร์ดัม นอกเหนือจากฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และดินแดนกวม เพราะเกรงว่าจะประสบปัญหาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพราะเรือดังกล่าวออกจากฮ่องกงไม่กี่วันหลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


REUTERS-แอนเจลา โจนส์ ผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัม
  • แอนเจลา โจนส์ ผู้อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัม

ผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัม แอนเจลา โจนส์ ได้เผยแพร่วิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้ที่อยู่นอกเรือ โดยยืนยันว่าทุกคนบนเรือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่ตลอดเวลา และไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีใครติดเชื้อไวรัส แต่เรือก็ถูกลอยแพมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว

"สิ่งที่น่ากังวลคือเราไม่อาจวางแผนได้ การไม่รู้อะไรเลยยิ่งทำให้เรากลัว แทบไม่มีความหวัง เพราะทุกครั้งที่เรามีหวัง มันก็ถูกดับ ถูกปฏิเสธ พวกเราบนเรือนี้ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตอื่นๆ รออยู่นอกเรือ มีครอบครัว มีลูกหลาน มีสัตว์เลี้ยง มีงานที่รอพวกเราอยู่" โจนส์ระบุ

ที่ผ่านมามีเรือสำราญถูกกักทั้งลำมาแล้ว ลำแรก คือ เรือสำราญเวิลด์ดรีม ถูกกักที่ฮ่องกง เพราะมีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อ รัฐบาลฮ่องกงจึงอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเรือได้ และสิ้นสุดระยะกักตัวในวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา

ลำที่สอง คือ เรือสำราญ 'ไดมอนด์ พรินเซส' ถูกกักที่ท่าเรือในญี่ปุ่น เพราะผู้โดยสารชาวฮ่องกงรายหนึ่งซึ่งลงจากเรือไปเมื่อตอนเดือนมกราคม เป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้โดยสารและลูกเรือจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือ และต้องรอดูอาการจนกว่าจะสิ้นสุดระยะฟักตัว


REUTERS-ผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมยืนมองเรือฟริเกต เรือรบไทยในอ่าวไทย
  • ผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมยืนมองเรือกองทัพเรือไทยที่แล่นขนาบในน่านน้ำทะเลอ่าวไทย

ส่วน HAL เคยประกาศในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าเรือเวสเตอร์ดัมกำลังมุ่งหน้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ผู้โดยสารบนเรือได้ขึ้นฝั่ง รวมถึงเดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อหาทางกลับบ้านตัวเอง และสื่อหลายสำนัก ทั้งไทยและต่างประเทศ รายงานข้อมูลโดยอ้างอิงคำแถลงของบริษัท แต่กลับถูกหน่วยงานของรัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นการรายงานข่าวปลอม เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยกระทรวงคมนาคม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกับสื่อว่าไม่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่าในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #westerdam ในวันนี้ (12 ก.พ.) เพื่อแสดงความเห็นที่เกี่ยวกับเรือเวสเตอร์ดัม หลังจากที่ผู้ประกอบการเรือสำราญในประเทศไทยร่วมกันยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อยู่บนเรือ ซึ่งรวมถึงลูกเรือชาวไทยประมาณ 20 คน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายสนับสนุนให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัม โดยเสนอให้ส่งเสบียงหรือน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงหน่วยแพทย์แก่คนบนเรือ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: