ไม่พบผลการค้นหา
รายละเอียดต่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย และยื่นต่อประธานสภาแล้ว เหลือเพียงการบรรจุญัตติเข้าสู่การพิจารณาของสภา

ไม่กี่วันที่ผ่านมา 122 สส.เพื่อไทยร่วมลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 นำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชน และตั้ง สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุว่า ร่างดังกล่าวจะทำให้เกิดประชามติเพียง 2 ครั้งซึ่งจะประหยัดงบประมาณไป 3,000-4,000 ล้านบาท และเปิดช่องให้มีการยื่นเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าต้องทำประชาติกี่ครั้งกันแน่ เนื่องจากตามอำนาจหน้าที่และแนวปฏิบัติของศาลจะไม่ตอบคำถามหรืออธิบายรัฐธรรมนูญต้องมีคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วจึงทำหน้าที่วินิจฉัย

เนื้อหาสาระของร่างดังกล่าว ‘วอยซ์’ สรุปได้ดังนี้

1. ปรับ ม. 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยง่ายขึ้นหลายประการ ที่สำคัญไม่ต้องบังคับว่าต้องใช้เสียง สว.1 ใน 3 ในวาระ 1 และวาระ 3

2.ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะมี 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จาก 77 จังหวัด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องอายุเกิน 18 ปี, มีภูมิลำเนาหรือทำงานในจังหวัดนั้นๆ เกิน 5 ปี, ห้ามมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายกำหนด, ห้ามเป็น สส. สว. รัฐมนตรี และข้าราชการ

3. สสร. ตั้ง กมธ.ยกร่างมาคณะหนึ่ง จำนวน 47 คนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร.กำหนด โดยมาจาก

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน 24 คน
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง หรือบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 23 คน ซึ่งสสร.จะเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร 12 คน ตามอัตราส่วน สส.ของแต่ละพรรค และจากการเสนอชื่อโดยวุฒิสภา 5 คน จาก ครม. 6 คน

4.สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน

5.ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 และหมวด 2

6. การยุบสภาไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของ สสร.

7. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง และแถลงความคืบหน้า

8. เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ภายใน 30 วัน หากสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าเห็นชอบตามร่างที่เสนอมา

9. หากสภามีมติให้แก้ไข ให้ส่ง สสร.เพื่อแก้ไขภายใน 30 วัน หรืออาจลงมติยืนยันร่างแต่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สสร.

10. เมื่อสภาเห็นชอบแล้ว ให้ กกต.จัดการออกเสียงประชามติว่าประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่


ไทม์ไลน์ปมรัฐธรรมนูญในรัฐบาลเศรษฐา

รัฐบาลเศรษฐา ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 35 คน โดยมีโจทย์สำคัญที่ต้องตอบสังคม 3 เรื่องคือ 1) จะแก้โดยมีกรอบหรือไม่ 2) สสร.ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากไหน 3) ต้องทำประชามติกี่ครั้ง

ทั้งนี้ เรื่องทำประชามติกี่คร้้งกลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะเมื่อปลายปี 2563 เคยมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตาม ม. 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดตั้ง สสร.ผ่านสภาได้ 2 ฉบับ โดยได้คะแนนโหวตเห็นชอบสูงถึง 576 และ 647 เสียงตามลำดับ ที่สำคัญ ได้รับเสียง สว.เกิน 1 ใน 3 ตามเงื่อนไขหินที่ 'รัฐธรรมนูญมีชัย' กำหนด แต่แล้ว ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ สส.พลังประชารัฐ จับมือ สว.นำโดย ‘สมชาย แสวงการ’ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่ารัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน คำถามก็คือ ก่อนอะไร เกิดการตีความคำวินิจฉัยกันไปหลายทิศทาง และยังถกเถียงกันจนปัจจุบัน

คณะกรรมการฯ สรุปแนวทางก่อนเสนอให้ครม.เคาะอีกครั้ง ดังนี้

1.ทำประชามติ 3 ครั้ง ได้แก่

(1) ทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

(2) ทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนด

(3) ทำประชามติเมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2. มีคำถามเดียว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

3. สสร.จำนวนเท่าไร มาจากไหนให้สภาพิจารณา

พรรคเพื่อไทย นำโดย ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค แถลงว่า ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ต่อประธานรัฐสภาแล้ว มีสาระสำคัญคือ ให้มีการจัดตั้ง สสร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายให้เกิดการทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ในครั้งที่ต้องแก้ม.256 กับเมื่อยกร่างเสร็จ และหากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

ชูศักดิ์ ระบุว่า คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยมีมติว่าจะขอแก้ไขกฎหมายประชามติด้วย ขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้วกำลังนำเสนอหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันลงชื่อเสนอญัตตินำเสนอต่อสภา โดยมี 3 ประเด็น คือ

1.แก้กฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่าเสียงข้างมากนั้นต้องไม่ต่ำกว่าเสียงประสงค์ไม่ลงคะแนน

2.เสนอว่าประชามติอาจทำไปพร้อมๆ กันกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ

3.ในอดีตคือการไปลงประชามติจะใช้บัตรกาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต่อไปให้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ เช่น อาจใช้วิธีการทางไปรษณีย์ได้

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย หลังจากสส.พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ที่ต้องการให้เกิดการตีความการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ และพรรคก้าวไกลมองว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรทำ 2 ครั้ง ซึ่งเริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งสสร.

ประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ของเพื่อไทย