ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อ 'อียู' เกินดุลการค้าสหรัฐฯ กำลังจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามการค้าครั้งใหม่ ในเวลาที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อ 'อียู' ลดลง จากนโยบายของจีน แต่การปะทะกันครั้งนี้ อาจไม่มีใครได้ แต่อาจเผชิญความเสียหายของทุกฝ่าย

มหกรรมเขย่าขวัญเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่หลอกหลอนนักลงทุนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้การหารือครั้งล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมมากนัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ กำลังพลิกมุม เมื่อนักวิเคราะห์บางส่วนออกมาคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู)

'เกินดุลการค้า' ชนวนการค้าโลก

สหรัฐฯ และอียู ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านการค้าและภูมิยุทธศาตร์อย่างใกล้ชิด รวมถึงมีแนวคิดและความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยและตลาดการค้าเสรี กำลังจะเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการเจรจาเรื่องภาษีอุตสาหกรรม ตามทฤษฎีแล้วการเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งในระหว่างการเจรจานับเป็นเรื่องปกติ โดยทางออกหลักที่นิยมใช้ คือการปรับลดอัตราภาษี หรือใช้เครื่องมือกีดกันการค้าต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ หลายฝ่ายเชื่อว่าความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายมีสูงมาก

'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จับตามองตัวเลขการเกินดุลการค้ามูลค่า 1.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาทของอียูต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการส่งออกรถยนต์จากเยอรมนี อย่างใกล้ชิด 


รถยนต์

ตามความเชื่อเรื่องการค้าโลกของทรัมป์นั้น การเกินดุลการค้าระหว่างสองประเทศเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ประเทศหนึ่งกำลัง "ชนะ" ในขณะที่อีกประเทศกำลัง "แพ้" มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทาน ความอันตรายที่อาจเกิดขึ้น คือหากทรัมป์ตัดสินใจใช้มาตรการขึ้นภาษีอย่างไม่ปรานีปราศรัยกับสินค้าหลายประเภทต่ออียูเหมือนที่สหรัฐฯ เคยใช้กับจีน แน่นอนว่า มาตรการดังกล่าวย่อมทำให้สหรัฐฯ กลับขึ้นมาเป็นผู้ "ชนะ" อย่างง่ายดายจากมาตรการนี้ 

ทรัมป์อยู่ข้าง 'อังกฤษ' กรณี 'เบร็กซิต'

นอกจากสถานการณ์การพูดคุยเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐฯ และอียูดูมีชนวนไม่น้อย ทรัมป์ดูจะไม่ได้ให้การสนับสนุนอียูมากนัก สำหรับกรณีเบร็กซิตที่ยังหาข้อสรุประหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปไม่ได้ ทรัมป์แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าตนเลือกที่จะอยู่ข้างอังกฤษเสมอมา 

ทรัมป์ออกมาทวีตข้อความแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของสหภาพยุโรปต่ออังกฤษเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา มีใจความว่า

"น่าเสียดายที่สหภาพยุโรปมีท่าทีแข็งกร้าวกับสหราชอาณาจักรและเบร็กซิต และอียูยังเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ดุร้ายกับสหรัฐฯ ซึ่งต้องเปลี่ยน เพราะบางเวลาในชีวิตคุณต้องยอมปล่อยบางคน ก่อนที่พวกเขาจะย้อนกลับมากัดคุณ!"


'จีน' - 'หัวเว่ย' ของแสลงของ 'ทรัมป์'

แม้แนวโน้มการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะอยู่ในแนวโน้มที่ดี แต่จีนดูจะเป็นของแสลงสำหรับทรัมป์เช่นเดิมในมิติการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้ถูกโจมตีอันดับหนึ่งคือใครไปไม่ได้ นอกจาก 'หัวเว่ย' บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก 

สหรัฐฯ พยายามโจมตีความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์รองรับเทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าหัวเว่ยในประเทศแล้ว ยังออกมาชักจูงให้ประเทศพันธมิตรต่างๆ รวมถึงอียูดำเนินการคว่ำบาตรสินค้าจากหัวเว่ยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากอียูจะไม่ทำตามแล้ว เยอรมนียังมีแนวโน้มจะสั่งสินค้า 5จี จากหัวเว่ย ขณะที่พันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักรดูจะไม่ได้มีความกังวลเรื่องการสอดแนมของรัฐบาลจีนผ่านอุปกรณ์ของหัวเว่ยอย่างที่สหรัฐฯ ออกมาโจมตีมากนัก

ไม่มีใครได้และทุกคนเสีย

หากสงครามการค้าครั้งใหม่เกิดขึ้นจริง อียูซึ่งไม่ได้อยู่ในสภาวะที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเหมือนในอดีตจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากครั้งใหญ่ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการชะลอตัวด้านการลงทุนในสหภาพยุโรป และส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องเปลี่ยนมาตรการการเงินที่วางไว้เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเคยทำไปมาแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การต้องปรับแผนของธนาคารกลางสหภาพยุโรปจะบั่นทอนความมั่นใจของนักลงทุนและตลาดการเงินอย่างแน่นอน

ด้านสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบระยะยาวเช่นกันหากทรัมป์ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่สงครามการค้ากับอียู โดยผู้แพ้ที่แท้จริงในสงครามครั้งใหม่นี้ คือประชาชนสหรัฐฯ ที่ต้องแบกรับการจ่ายสินค้าที่แพงขึ้นจากมูลค่าภาษีนำเข้า 

นอกจากนี้ ยังทำให้อำนาจการต่อรองของรัฐบาลที่มีต่อสหภาพยุโรปลดลง ซึ่งเริ่มมีสัญญาณให้เห็นบ้างแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อิตาลี นำร่องเป็นประเทศแรกในกลุ่ม จี7 ที่เข้าร่วมกับ "เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21" โครงการโครงสร้างพื้นฐานมหึมาของจีน

'แอนโทนี การ์ดเนอร์' อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรปในช่วงปี 2557 - 2560 ให้ความเห็นว่า การเดินหน้าเข้าสู่สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอียูจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ การ์ดเนอร์ผิดหวังที่ทรัมป์มองว่าอียู คือ "ศัตรู" กับสหรัฐฯ เพราะแท้จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับจีน

 

"สิ่งที่เราควรทำคือพูดคุยกับอียูให้มากขึ้น ไม่ใช่ไปขู่ว่าจะขึ้นภาษี" การ์ดเนอร์ กล่าว

แท้จริงแล้ว การพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศที่ทรัมป์พยายามทำอยู่เพื่อรักษาฐานเสียงชาวอเมริกันที่เลือกตนเข้ามาเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ทัศนคติการ "แพ้ไม่เป็น" หรือ "แพ้ไม่ได้" ในสายตาของทรัมป์อาจจะเป็นกับดักที่พาประเทศเข้าสู่จุดจบมากกว่าจะเป็นชัยชนะ

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ ไม่ว่าทรัมป์จะแพ้หรือชนะในสงครามการค้าครั้งนี้หรือครั้งหน้า ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบด้วย ไม่มากก็น้อย และไม่ดีก็ร้าย

อ้างอิง; CNBC, Bloomberg