ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร สั่งด่วนใน ครม. ทุกส่วนราชการต้องเร่งจัดการฝุ่น PM2.5 ขั้นเด็ดขาด สั่ง ตร. และ คค. ต้องกวดขันจับรถควันดำ โดยเฉพาะพิกอัปแต่งเครื่องพ่นควันดำเกลื่อนเมือง อก. รง. ต้องงดรับซื้อพืชจากการเผา ส่วน พณ. ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผา กห. เร่งกวดขันจับ

ข้อสั่งการที่ 2 ของนายกรัฐมนตรี วันที่ 7 มกราคม 2568

วันนี้ (7 มกราคม 2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเร่งด่วนในที่ประชุม ครม. คือ เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลที่ปัญหา PM2.5 เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการรับซื้ออ้อยที่ถูกเผาในหลายพื้นที่ ในขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมก็เริ่มเห็น Hotspot เพิ่มมากขึ้นในบางจังหวัด โดยขอให้ในที่ประชุม ครม. วันนี้ หารือในประเด็นนี้ และขอมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปดำเนินการในการป้องกัน กวดขัน จับกุมอย่างเข้มงวด โดยมีเป้าหมายต้องลดให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในเรื่องแต่ละกระทรวงโดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่ มีการเผา นายกฯ ได้สั่งการให้:

- อก. เร่งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้

- ทส. ร่วมกับ สตช. บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า / เผาตอซังข้าว / ข้าวโพด / อ้อย และพืชอื่น ๆ รวมทั้งประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ โดยร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการดำเนินการดังกล่าว

- พณ. ร่วมกับ กษ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่น ๆ ที่ผ่านการเผา

- กห. /ขอให้หน่วยงานความมั่นคง และกรมศุลกากรตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิด ตามแนวชายแดนต่าง ๆ อย่างเข้มงวด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ส่วนราชการอื่น ๆ ที่จะสามารถลด ค่า PM2.5 ในภาคอื่น ๆ ได้ โดยให้ :

- คค. และ สตช. ตรวจสอบและห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถ pickup / รถโดยสาร / รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำรวมทั้งรถขนส่งมวลชนของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ

- มท. กำชับ กทม. และ อปท.ทุกแห่ง ให้ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM2.5 จาก site งานก่อสร้างรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้กับผู้ประกอบการซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง

 - มท. (กรมโยธาฯ) กำหนดแนวทำป้องกันมิให้เกิดการปล่อย PM2.5 ในโครงการก่อสร้างของรัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐนำไปกำหนดใน TOR ของการจ้างก่อสร้างต่อไป เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

- ดศ. ร่วมกับ อว. และ ทส. พัฒนา Platform ฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับ hotspot และ ventilation โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ low cost sensors เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM2.5 อย่างบูรณาการ

- กต. หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการต่อไปว่า ในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้:

- มท. กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / ผู้ว่าราชการจังหวัด / และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมการป้องกันกรณีที่มีการลักลอบเผาและเกิดไฟไหม้ลุกลามในวงกว้างและเป็นต้นเหตุของ PM2.5

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบและเสนอต่อ ครม. เพิ่มเติมภายในเดือนมกราคมนี้ว่าในแต่ละกระทรวงจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอากาศสะอาดในเร็ววันนี้