ในบรรดา 16 ผู้ว่าฯ กทม. นับตั้งแต่ปี 2516 คนกรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเพียง 7 คนเท่านั้น นอกนั้นมาจากการแต่งตั้ง
พล.ต.อ.อัศวิน ในวัย 69 ปี วันที่ 15 ก.พ. 2564 เขาจะมีอายุครบ 70 ปีเต็ม ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการคือ รอง ผบ.ตร. เคยได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อปี 2553 ว่า 'อัศวินปิดจ็อบ' ด้วยการทำงานที่รวดเร็วดุดัน หลังเกษียณอายุราชการได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ในยุคที่ ม.ร.ว.สุุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.
กระทั่งวันที่ 18 ต.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 64/2559 เรื่องการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากผู้ว่าฯ กทม. และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ด้วยเหตุที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 ลงวันที่ 25 ส.ค. 2559 ให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพฯ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นการชั่วคราว โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ถูกตรวจสอบตามข้อกล่าวหาต่างๆ อีกทั้งจะใกล้หมดวาระผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้นได้
เป็นผลให้ พล.ต.อ.อัศวิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งในรอบ 35 ปี ซึ่ง 'อาษา เมฆสวรรค์' เป็นผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งคนสุดท้ายเมื่อปี 2528
ถ้านับจากวันที่ 18 ต.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน พล.ต.อ.อัศวิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาเกิน 4 ปีตามวาระปกติของของผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง
ยิ่งเข้าเดือน ก.พ. 2564 ผู้ว่าฯ อัศวินจะมีวาระในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ลากยาวมาเป็นเวลา 4 ปี 3 เดือนเศษๆ
ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.อัศวิน ประกาศทันทีว่า ตนเข้ามาด้วยคำสั่งคสช. ถือว่าเป็นผู้ว่าฯที่มาด้วยวิธีพิเศษ ก็ต้องทำอะไรให้คนกทม.แบบพิเศษ จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีผู้ว่าฯใหม่ หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมาแบบพิเศษก็ไปแบบพิเศษได้
"หากทำไม่ดีก็โดนปลดได้ คงไม่เอาชื่อเสียงที่ทำมาทำลายตัวเอง นโยบายที่ตั้งมาต้องทำทันที ไม่มีพรุ่งนี้ NOW! คือทำเดี๋ยวนี้" พล.ต.อ.อัศวิน ระบุเมื่อปี 2559
ตลอดเวลา 4 ปี 3 เดือน หากเปิดดู พ.ร.ฎ.กำหนดเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินค่าเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองอื่นของกรุงเทพมหานคร และกรรมการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2556
ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีเงินเดือน 72,060 บาทต่อเดือน เงินเพิ่มเติม 41,500 บาทต่อเดือน รวม 113,560 บาทต่อเดือน
ใน 1 ปี ผู้ว่าฯ กทม.จะมีเงินรวมจำนวน 1,362,720 บาทต่อปี เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน อยู่มา 4 ปีจะมีเงินเดือน 5,450,880 บาท หากนับใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2559 และ 1 เดือนแรกของปี 2564 ก็มีเงินเดือนรวม 3 เดือนอีก 340,680 บาท
เบ็ดเสร็จ พล.ต.อ.อัศวินเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่อยู่เกินวาระปกติ ได้เงินเดือนไปแล้วไม่น้อยกว่า 5,791,560 บาท
ในยุคผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กรุงเทพมหานคร ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งระบุไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2564 ดังนี้
งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ปี 2560 : 75,635 ล้านบาท (พล.ต.อ.อัศวิน รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ กทม.)
ปี 2561 : 79,047 ล้านบาท
ปี 2562 : 80,445 ล้านบาท
ปี 2563 : 83,398 ล้านบาท
ปี 2564 : 76,441 ล้านบาท
รวมตลอดการบริหารกรุงเทพมหานครภายใต้ พล.ต.อ.อัศวิน ได้ตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไปแล้วจำนวนกว่า 394,966 ล้านบาท
ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้งถูกแช่แข็งนับตั้งแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกเด้งออกจากผู้ว่าฯ กทม.ด้วยอำนาจพิเศษของหัวหน้าคณะรัฐประหาร
อาจเรียกได้ว่าเป็นการปล้นอำนาจประชาชนที่เทคะแนนเสียงให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม.
สิทธิที่คนกรุงจะได้เลือกผู้ว่าฯ ที่มาจากประชาชนต้องถูกพรากจากการรัฐประหารไปเป็นเวลา 5 ปี
คนกรุงเท่าน้ันที่จะให้คำตอบได้ว่าเงินเดือนที่ผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งด้วยวิธีพิเศษนี้ตลอดเกือบ 5 ปีนี้คุ้มค่ากับการทำงานหรือไม่
ในขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2564 หรือไม่ เพราะอำนาจการกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าวนี้อยู่ที่รัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง