ไม่พบผลการค้นหา
'รวิศ สอดส่อง' หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทน รมว.ยุติธรรม ร่วมงานเฉลิมฉลองและระลึกถึงวันสตรีสากล/เดือนสตรีสากล เพื่อเสริมสร้างพลังสตรี จัดโดย ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC)

วันนี้ (27 มีนาคม 2568) นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ ผู้แทน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมากล่าวแสดงทัศนะในการเปิดงานเฉลิมฉลอง และระลึกถึงวันสตรีสากล/เดือนสตรีสากล เพื่อเสริมสร้างพลังสตรี ซึ่งจัดโดย ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children : ACWC) ร่วมกับ ฮาร์ดร็อคคาเฟ่ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ให้การต้อนรับ 

S__3629518_0.jpg

นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ ผู้แทน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผมและกระทรวงยุติธรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการจัด “งานเฉลิมฉลองวันสตรีสากล / เดือนสตรีสากล : เพื่อเสริมพลังสตรี” ในวันนี้ และขอขอบคุณเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมจัดงานฯ ทุกองค์กร รวมทั้งขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาสละเวลาเข้าร่วมงานฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกท่านให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาค และการเสริมสร้างพลังของสตรี 

S__3629509_0.jpg

นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า  กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม / อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ / รวมถึงพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นคนดี และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ภายใต้วิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” โดยที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีในหลายมิติ ดังนี้ 

S__3629512_0.jpg

ระดับนโยบาย ผู้หญิง (สตรี) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญภายใต้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยแผนฯ ถือเป็นกรอบนโยบายระดับชาติที่กำหนดทิศทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ สำหรับกลุ่มสตรี แผนฯ ได้กำหนดประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในห้วงปี 2566 - 2570 ไว้หลายประการ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การพัฒนาช่องทางและมาตรการอำนวยความยุติธรรมให้สตรี การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นต้น

ระดับกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ผลักดันพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวให้กับบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงได้แก้ไขบทบัญญัติบางประการให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น เพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี นอกจากนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลางที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และยืนยันการปฏิบัติต่อบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งรวมถึงความแตกต่างทางเพศด้วย 

S__3629510_0.jpg

ระดับปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรม ได้มีการให้ความช่วยเหลือตามภารกิจให้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การให้ความช่วยเหลือทนายความ การอำนวยความยุติธรรมผ่านทางกองทุนยุติธรรม การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม การคุ้มครองพยาน รวมทั้งได้มีการแก้ไขและกำชับระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติกับสตรีอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึง Needs ของแต่ละบุคคลด้วยนอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรม ยังมีบทบาทนำในการผลักดันมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับระหว่างประเทศ จนพัฒนามาเป็นข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) รวมถึงได้ร่วมผลักดันข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับนานาอารยประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งข้อกำหนดดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์หญิงอีกมากกว่า 37,000 คน อีกด้วย

”สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน สามารถร่วมมือร่วมใจกันเป็นพลังสำคัญในการผลักดัน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในครอบครัว องค์กรสังคม เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคและเท่าเทียมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง“ นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

S__3629511_0.jpg

การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองเดือนสตรีสากล โดยมุ่งเน้นที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันสร้างความเข้มแข็งข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary Approach) โดยมีวิทยากรผู้ทรงเกียรติจากหลากหลายสาขา อาทิ วงการกีฬา, บันเทิง, สาขา STEM, ภาครัฐ, องค์กรระหว่างประเทศ, องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ฯลฯ

S__3629514_0.jpg