ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยเดนมาร์ก หนึ่งในทีมสอบสวนโควิดของอนามัยโลก แจงผ่านทวิตเตอร์วิจารณ์สื่อท้องถิ่น 'บิดเบือน' กรณีตลาดนัดจตุจักรต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19

ดร.ธีอา โคลเซน ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อและระบาดวิทยา จากโรงพยาบาลนอร์ทซีแลนด์ ของเดนมาร์ก หนึ่งในนักวิจัยองค์การอนามัยโลก ซึ่งร่วมทีมลงพื้นที่สอบสวนหาต้นต่อการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ได้ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวชี้แจงถึงกรณีที่สำนักข่าว Politiken สื่อท้องถิ่นตีพิมพ์บทความสัมภาษณ์ของเธอ โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุว่า "ตลาดจตุจักรอาจเป็นแหล่งแพร่โควิด-19 ไปยังเมืองอู่ฮั่น"

ดร. ฟิชเชอร์ ระบุในข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า "พาดหัวข่าวและบทนำของสื่อเดนมาร์กนั้นเขียนไม่ถูกต้องและเป็นการบิดเบือน เธอเพียงพูดถึงเฉพาะการค้นพบล่าสุดจากไทยที่มีการพบเชื้อไวรัสในค้างค้าวเกือกม้าในไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ SARS-CoV-2 (โควิด-19)" ขณะเดียวกันเธอยังชี้แจงว่า ไม่ได้เจาะจงถึงตลาดจตุจักร เพียงแค่ยกตัวอย่างว่า จากลักษณะของส่วนค้าสัตว์ในตลาดจตุจักรนั้นมีลักษณะที่แออัด ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นแหล่งเพาะและแพร่พันธุ์เชื้อโรคชั้นดี อีกทั้งตลาดค้าสัตว์ที่ลักษณะแออัดเช่นนี้มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดทั้งสิ้น ดังเช่นที่เคยเกิดการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) เมื่อปี 2546

ด้านเจเรมี อังเดร ฟลอแรส์ ผู้สื่อข่าวเอเชียของสำนักข่าวเลอปองต์ ในฝรั่งเศส ได้นำบทความของ Politiken มีทวีตบนทวิตเตอร์พร้อมระบุว่า รายงานของสื่อเดนมาร์กรายนี้ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุน จึงเป็นการรายงานที่ "ไร้ความรับผิดชอบ"


สธ.แจง 'ตลาดจตุจักร' ไม่ใช่ต้นตอไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกันด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงกรณีที่สื่อเดนมาร์กรายงานข่าวว่าไวรัสโควิดที่มีต้นกำเนิดจากส่วนค้าสัตว์เลี้ยงของตลาดนัดจตุจักรนั้น ไม่เป็นความจริง 

"ตามที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องจากการแถลงข่าวของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และสำนักข่าวต่างๆ นำมาเสนอ และเชื่อมโยงมาถึงจตุจักรอาจเป็นต้นกำหนดของเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่นนั้น ทางกรมฯ ได้ติดตามเรื่องนี้ ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง"นพ.เฉวตสรร กล่าว

ทั้งนี้ แม้ต้นกำเนิดของโควิด-19 อาจมีข้อสงสัยว่าแพร่ข้ามจากสัตว์มาสู่มนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากสัตว์ชนิดใด ขณะที่การลงพื้นที่สอบสวนโรคของทีมนักวิจัยจากองค์การอนามัยโลก ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกัน 

"ไทยมีการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยมีการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนในไทย เช่น โรคซาร์ โรคเมอร์ เป็นบทเรียนให้เราเฝ้าระวังเรื่องสัตว์ป่า ถ้ามีโรคใหม่ๆ ระบาดจะมีสัญญาณบอกเหตุที่ผิดสังเกต เช่น ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยก็ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใดๆ หรือพบผู้ป่วย ที่เป็นกลุ่มก้อนผิดสังเกตก่อนการระบาดในอู่ฮั่น เช่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม มากผิดปกติแบบไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นความมั่นใจของกรมควบคุมโรคว่า ไทยไม่ใช่แหล่งกำเนิดโรคโควิด-19" นพ.เฉวตสรร กล่าว