เวทีเสวนา “เศรษฐกิจ การเมืองไทย หลังการเลือกตั้ง” ในงาน ไทยแลนด์ สมาร์ท มันนี่ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 9 พรรคการเมืองต่างๆ นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ ประสานเสียงชี้ว่าบรรยากาศต่างๆ ก่อนเลือกตั้งและสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริบทการจัดการเลือกตั้งภายใต้อำนาจ คสช. และแนวโน้นเรื่องความพยายามสืบทอดอำนาจ หากการเลือกตั้งมีความไม่ยุติธรรมและทุกฝ่ายไม่สามารถยอมรับได้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ ซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการคืนสู่ประชาธิปไตย หากมีความยุติธรรมฝ่ายประชาธิปไตยสามารถยอมรับได้ แต่อาการของความไม่ยุติธรรมได้แสดงออกมาอย่างมาก ซึ่งประชาชนรับรู้สิ่งเหล่านี้และสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ
ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า หากหลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เศรษฐกิจจะถอยหลังและประเทศจะล้าหลัง วันนี้โลกเปลี่ยนไปมากและรวดเร็ว เราอยากเห็นผู้นำที่มีปัญญาเป็นอาวุธ ไม่อยากเห็นผู้นำที่มีอาวุธแต่ขาดสติปัญญา ซึ่งตลอดเวลา4 ปีของรัฐบาลนี้มีปัญหาการบริหารงานด้านเศรษฐกิจอย่างมาก
ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สถานในขณะนี้ไม่ปกติ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะมาถึงมีแนวโน้มอย่างสูงว่าจะมีการโกงเยอะที่สุด ตั้งแต่เรื่องกติกา การแบ่งเขต จนถึงบัตรเลือกตั้ง การดูด ส.ส. ด้วยเงิน ตำแหน่งและการข่มขู่ดำเนินคดี แล้วยังมีการใช้ภาษีประชาชนเอื้อให้พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งในปี 2500 และในปี 2535 ซึ่ง รสช.พยายามสืบทอดอำนาจ ผ่านพรรคสามัคคีธรรม แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การรัฐประหารแก้ปัญหาประชาธิปไตยไม่ได้ และแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2562 จะไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย จะเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากการยึดอำนาจด้วยกำลังไปสู่การยึดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าสืบทอดอำนาจ เพราะเกิดขึ้นภายใต้บริบทของผู้มีอำนาจสูงสุด คือ คสช.ไม่ใช่ กกต. ซึ่งถ้าการเลือกตั้งมีความยุติธรรมและทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็อาจเป็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่การนับหนึ่งสร้างประเทศหรืออาจเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ หากการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง จนเกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง ซึ่งสุดท้ายแม้พรรคการเมืองนั้นจะได้ถือคครองอำนาจ แต่ก็จะเป็นการจุดชนวนไปสู่ความขัดแย้ง และ พฤษภาทมิฬภาค 2 ก็อาจเกิดขึ้นอีกก็ได้
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้ตัดสินใจในทิศทางใด ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็มีขั้นตอนต่างๆในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและยังไม่เริ่ม จึงคิดว่าเร็วเกินไปที่จะไปพูดถึงความชัดเจน สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจ ในวันนี้ซึ่งยังไม่ดีและยังโตไม่ได้ เพราะเราอยู่กับความขัดแย้งมานานนับ 10 ปี โดยเฉพาะในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาได้เกิดความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถพลิกฟื้นกลับคืนสภาพมาได้ง่ายๆ