และเรื่องที่คนอาจลืม แต่จะกลายเป็น “วาระการเมืองแห่งปี” คือเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจถูกถ่างยาวออกไปนับเดือน หากโควิด-19 ระบาดไม่หยุด
แต่ที่ว่าจะกลายเป็น “วาระการเมืองแห่งปี” 2564 ก็เพราะหากเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร (กมธ.) ร่างแก้ไขมาตรา 256 กันอยู่ในอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดช่องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ผ่านที่ประชุมรัฐสภาไป ก็ต้องไปทำประชามติถามประชาชน
หากประชาชนเห็นชอบ ก็เข้าสู่การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับต่อไปโดยใช้ ส.ส.ร. ที่จะมาจากการเลือกตั้ง 150 สรรหาตาม 50 คน ตามร่างแก้ไขฝ่ายรัฐบาล หรือ เลือกตั้ง 200 คน ตามร่างแก้ไขของฝ่ายค้านก็สุดแท้แต่
ก็จะต้องร่างกันยาวอย่างน้อยๆ 7-8 เดือน ตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นไปจนถึงปี 2565
เกมแก้รัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็น “วาระการเมืองแห่งปี” ไปโดยปริยาย แถมอาจเป็นตัวกำหนดอารมณ์ม็อบนอกสภา ว่าจะเดือด – ไม่เดือด แค่ไหน
ทว่า หากส่องเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาเวลานี้ ที่ 45 อรหันต์ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ประกอบด้วย ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคการเมือง ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน
ส่วนฝ่ายรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน รวม 17 คน สำหรับสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 15 คน
หากอนุมานว่า ส.ว. 15 คน เป็นพวกเดียวกับฝ่ายรัฐบาลที่มีอยู่ 17 เสียง ก็จะทำให้จำนวนเสียงมากกว่าฝ่ายค้านที่มีแค่ 13 เสียง โหวตอย่างไรก็ชนะ
แต่แม้เสียงของฝ่ายข้างมาก – รัฐบาล โหวตอย่างไรก็ชนะ ทุกปม ทุกหมวด ทุกมาตรา
กลับมีเสียงลือเรื่อง ส.ว.กับแกนนำ ส.ส.พลังประชารัฐ กำลัง “ล็อกดาวน์” ปิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เริ่มดังขึ้นมาเป็นระลอก โดยเฉพาะเสียงในฝ่าย ส.ว.ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบ “รายมาตรา” มากกว่า “ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ”
หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2563 “สมชาย แสวงการ ส.ว. และ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ล่ารายชื่อยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา กรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้อนุญาตให้มีรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับ 2557 มีเพียงแต่เฉพาะบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น การกระทำใด ๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ การพิจารณาและวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาได้แขวนเรื่องดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 เนื่องจาก “ไพบูลย์” ได้ขอเลื่อนการพิจารณาออกไป เรื่องดังกล่าวยังคาไว้รอวันลงมติ
ขณะเดียวกันประเด็นดังกล่าวยังถูกเพิ่มน้ำหนักโดย “อุดม รัฐอมฤต” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ...... เชิญมาให้ข้อมูล - เจตนารมณ์ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โดย “อุดม” กล่าวในนามส่วนตัวมิใช่ในนาม กรธ. เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมิได้มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”
“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องพิจารณาสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในอดีต และหากประสงค์ที่จะได้ข้อยุติในประเด็นเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภาอาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็ได้”
มีรายงานว่า หลังการให้ถ้อยคำของ “อุดม” ส.ว.เริ่มมีการขยับขวาง ล็อกดาวน์เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้แกนนำ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มแสดงความกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสะดุดลงหรือไม่
เมื่อ ส.ว. ผนึก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ปฏิบัติการ ล็อกดาวน์ด้วยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
พร้อมขู่ว่า หากรัฐสภาไม่ลงมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส.ว.จะขู่คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3
ข่าวที่เกี่ยวข้อง