ไม่พบผลการค้นหา
เปิดความเห็น ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ ตีตัวบท รธน. ปี60 สอน ‘เนติบัณฑิตยสภา’ ไร้เวลาเลือกนายกฯ ต่างจาก รธน.ปี2540 ปี2550 ที่กำหนดเวลาการโหวตเลือกนายกฯ ในสภาฯ ต้องเลือกใน 30 วัน ชี้เคส ‘อิตาลี’ เคยมีสภาฯ โหวตนายกฯ ไม่ได้จนมีรัฐบาลรักษาการเป็นปี

ภายหลัง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กไม่เห็นด้วยกับผลการลงมติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 กรณีใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 มาโหวตตัดสินชี้ขาดไม่ให้เสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ซ้ำอีกได้ในสมัยประชุมรัฐสภานี้

โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ระบุว่า “เอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกฯ ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย”

“ผลการผิดหวัง สส.คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้านคุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้”

“ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมา 30 กว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!”

บวรศักดิ์ IMG_9049.jpeg

ส่งผลให้เกิดมุมวิเคราะห์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า อาจส่งผลต่อการลงมติเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง ในรายอื่น ๆหรือไม่ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้อีก หากเกิดที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบขึ้นมา

‘วอยซ์’ ได้สืบค้นความเห็นทางกฎหมายจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ เคยบรรยายต่อนักศึกษาเนติบัณฑิตยสภา เมื่อช่วงปี 2565 ก่อนมีการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เกี่ยวกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

โหวตนายกฯ

โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ได้ระบุตอนหนึ่งถึงตัวบทการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า “การเลือกนายกรัฐมนตรี 5 ปีแรก ต้องกระทำโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถือเป็นสิ่งซึ่งต่อต้านเรียกร้องกันว่า สมาชิกวุุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่ควรที่จะลงไปมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะการเอา สว.มาลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับเอาคนซึ่ง คสช. ตั้งมาเลือกด้วย แปลว่า ก็จะเลือก คสช. นั่นแหละ” 

ตรงนี้เขาก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญอยู่ ก็ไม่ผ่านนะ จริงๆตอนทำรัฐธรรมนูญ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ สส. เลือกอย่างเดียว แต่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเอาใจ คสช. ก็ไปเสนอคำถามประชาชน (ออกเสียงประชามติ) ว่า จะให้ สว.ร่วมเลือกมั้ย ในการทำประชามติ จำได้ไหม มี 2 เรื่อง เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญ กับเรื่องที่สองการให้ สว.เข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ ไหม ปรากฏว่า ประชาชนเห็นชอบ อาจารย์มีชัยต้องนำร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไม่ให้ สว. เลือกนายกฯ กลับมาแก้ตามประชามติ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อธิบายว่า "บทหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การเลือกนายกฯ การลงคะแนนเปิดเผย ต้องได้เสียงมากกกว่ากึ่งหนึ่ง 251 เสียงจาก 500 เสียง แต่เลือกเสร็จเมื่อไรไม่กำหนดไว้" 

"รัฐธรรมนูญ ปี2540 และ ปี2550 บอกว่า การเลือกนายกฯ ต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภา หาก 30 วันยังไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินครึ่งก็ให้เลือกหนที่ 2 โดยใครได้คะแนนเสียงสูงสุดให้เอารายชื่อคนนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระองค์ทรงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งเป็นนายกฯ" 

"แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนล็อกไว้เหมือน ปี 2540 และ ปี2550”

"แปลว่า เลือกไปได้เรื่อยๆ ถ้าพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้นะครับ คุณอย่านึกว่าไม่เกิดนะ เกิดแล้วในอิตาลี ตอน ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลี ประชุมสภาเท่าไรก็ได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่ง" 

"รัฐบาลแบร์ลุสโคนีก็เลยรักษาการไปเรื่อยเป็นปี ในเบลเยียมก็เคยเกิด" 

"รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ปี 2550 เลยล็อกเอาไว้ ว่า ถ้า 30 วัน แล้วไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งต่อไปใครได้คะแนนเสียงมากสุดต้องได้เป็นนายกฯ แล้ว" ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ระบุในการบรรยายต่อนักเรียน เนติบัณฑิตยสภา

พิธา ประชุมรัฐสภา ชลน่าน 8537.jpegพิธา ประชุมรัฐสภา 8533.jpeg

ส่วนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่30 จะจบลงเมื่อใดนั้น และจะได้ใครเป็นนายกฯ ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องจับตาต่อไป

แม้ ‘พรรคก้าวไกล’ จะส่งไม้ต่อให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อรวมเสียงจาก สส. พรรคการเมืองอื่น และ สว. เพื่มเติม แต่ยังเกิดข้อถกเถียงถึงความสง่างามทางการเมืองที่อาจไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน 

ซึ่ง กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้เสนอทางออกถึงการปลดล็อกวิกฤตการลงมติเลือกนายกฯ ในขณะนี้ ว่า 8 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอาจไม่ต้องเล่นเกมตามฝ่ายอำนาจนิยมที่ดึงเวลาทุกอย่าง ตั้งแต่การรับรอง สส. การเลือกนายกฯต้องใช้เสียง สว. และอ้างข้อบังคับเกี่ยวกับญัตติ 

"หากพรรคร่วมสามารถมองเห็นว่า เวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือพี่น้องประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงควรรออีก 10 เดือน ให้ สว.ระเหิดไปกับกฎหมายที่รองรับ เพื่อให้เหลือแค่เสียง สส.เลือกนายกรัฐมนตรี มันอาจจะเจ็บบ้างที่ต้องให้รัฐบาลรักษาการอีก 10 เดือน แต่เมื่อคำนวณผลลัพธ์แล้ว จะเห็นว่า เราจะไม่เจ็บอีกหลาย 10 ปี" 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มหลังได้นายกรัฐมนตรี คนที่30 ที่มี ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำฝ่ายประชาธิปไตยในการจัดตั้งรัฐบาล จึงเป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณาในทางการเมืองว่า จะมี ‘พรรคก้าวไกล’ อยู่ในสมการจัดตัั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ จะรวบรวมเสียงของ สส.และ สว.ในการผลักดันให้มีนายกรัฐมนตรีโดยเร็วได้หรือไม่ โดยที่ไม่มีเสียงคัดค้านจากมวลชนนอกรัฐสภา

บวรศักดิ์ IMG_9048.jpeg

ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=9Xo_fDdoMBU&t=3361s