ไม่พบผลการค้นหา
"อนุทิน" ปรับยุทธวิธีคุมโควิด-19 ชวนคนไทยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจคัดกรอง "ตรวจเร็ว ควบคุมเร็ว" พร้อมให้กรมวิทย์ กำหนดยุทธศาสตร์ "1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ" เร่งคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธวิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีนโยบายเร่งรัดให้มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการควบคุมโรคระบาดคือ "ค้นหาผู้มีความเสี่ยงรับเชื้อให้เร็วที่สุด"

โดยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตนขอเชิญชวนประชาชนไทยทุกคนที่มีความเสี่ยงและมีอาการเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI ซึ่งย่อมาจาก Patient Under Investigation ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ได้ปรับปรุงฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 คือ ไข้ 37.5 องศาขึ้นไป หรือประวัติมีไข้ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ ไอ, น้ำมูก, เจ็บคอ, หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และมีปัจจัยเสี่ยง สามารถเข้ารับคัดกรองได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเร่งควบคุมการระบาดโดยเร็ว ตามหลักการค้นหาผู้ป่วยเจอเร็ว รักษาเร็ว อัตราเสียชีวิตต่ำ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการไปใช้บริการตรวจคัดกรองนั้น ประชาชนที่สงสัยว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการสงสัยป่วยโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เข้าไปรับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งโรงพยาบาลจะทำการตรวจคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองเบื้องต้นแล้วพบว่ามีอาการตรงกับเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ก็จะได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19

"ขอย้ำว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการตามที่ระบุแล้วไปคัดกรองที่โรงพยาบาลจะเข้าข่ายผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI ทุกคน แต่จะต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทำการตรวจคัดกรองอีกครั้งก่อน เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์แล้ว โรงพยาบาลจะเป็นผู้เก็บสิ่งส่งตรวจ เมื่อผลการตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็จะเข้าสู่การรักษาตามกระบวนการมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยค่าใช้จ่ายการคัดกรองนั้น ทางสถานพยาบาลจะเบิกจ่ายจากกองทุนบัตรทอง" นายอนุทิน กล่าว

และบริการตรวจคัดกรองนี้ใช้ได้กับโรงพยาบาลทุกแห่งและประชาชนทุกสิทธิ์ที่มีอาการเข้าเกณฑ์ สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง ประชาชนที่มีอาการตามที่ระบุมาข้างต้นก็สามารถเข้าไปรับการตรวจคัดกรองตามขั้นตอนได้เลย ขณะนี้เริ่มมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่มีอาการสงสัยเข้าไปตรวจคัดกรองแล้ว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในบางจังหวัดก็ได้เริ่มต้นการค้นหาผู้สัมผัสเชิงรุก เช่นที่ จ.ภูเก็ตที่ได้ประเดิมปฏิบัติการ "ปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุก" (Active cases finding : ACF) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยการสแกนพื้นที่ ตามความเสี่ยง สีแดง-สีส้ม-สีเหลือง-สีเขียว ขณะที่กรุงเทพมหานครก็ได้เริ่มปฏิบัติการ BKKCOVID19 หรือระบบคัดกรอง-ให้ความรู้-ช่วยเหลือ ผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด19 โดยให้ประชาชน

เข้าไปแล้วกรอกข้อมูลจริง ระบบนี้จะช่วยคัดกรองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หลังจากนั้นให้ความรู้ คำแนะนำ หากเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง จะมีการช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเจ้าหน้าที่จะติดต่อไปสอบสวนโรคเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับการรักษาต่อไป ส่วนหากเป็นกรณีฉุกเฉินจะมีรถพยาบาลไปรับโดยเร็วที่สุดเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐานต่อไป โดยการดำเนินการมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ตรวจฟรีทุกรายตามที่แพทย์เห็นถึงความจำเป็น ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ดูแลคนไทยทุกสิทธิ

ทั้งนี้ในส่วนของความพร้อมของห้องปฏิบัติการนั้น ตนได้มอบหมายให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นโยบายเชิงรุกในการจัดการการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “1 จังหวัด-1 แลป-100 ห้องปฏิบัติการ” เพื่อเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่และให้รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากนายอนุทิน ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกัน อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สปสช. โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยบริการตรวจปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ ZOOM Conference เพื่อจัดทำแนวทางบริหารจัดการบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

"การประชุมครั้งนี้เพื่อระดมทรัพยากรทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน และชี้แจงขั้นตอนการคัดกรองผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้บรรจุ "การคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)" เป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมดูแลคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา พร้อมจ่ายชดเชยค่าบริการเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการจากระบบปกติแล้ว" เลขาธิการ สปสช. กล่าว