วันที่ 14 มี.ค. 2567 องค์กรภาคประชาชนอีสาน 47 องค์กรร่อนแถลงการณ์หยุดยัดเยียดเขื่อนให้แม่น้ำทุกสาย ปล่อยแม่น้ำไหลเป็นอิสระในวันหยุดเขื่อนโลก และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกนโยบายผันน้ำโขง เลย ชี มูล และเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แนะให้แก้ไขปัญหาเขื่อนเก่าที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม
ทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสานได้ระบุเนื้อหาในแถลงการณ์ซึ่งมีข้อมูลดังนี้ เนื่องในวันที่ 14 มีนาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันหยุดเขื่อนโลก ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเราได้ร่วมกันติดตามนโยบายและผลกระทบจากการดำเนินการสร้างเขื่อนในภาคอีสาน พบว่า สาเหตุและปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบจึงนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ตลอดจนลำน้ำสาขาอื่น ๆ ได้แก่ หนึ่งการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำ สองโครงสร้างของเขื่อน และสามการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ทำให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองในหลากหลายพื้นที่และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
ในขณะปัจจุบัน รัฐ นักการเมือง กลุ่มทุน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล โครงการผันน้ำยวม-สาละวิน โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เป็นต้น บทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐโดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล ในพื้นที่ภาคอีสานสะท้อนให้เห็นถึงการกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้อำนาจรัฐจัดการและกำหนดนโยบายฝ่ายเดียว และไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่เคารพสิทธิของชุมชนที่มีรูปแบบในการจัดการทรัพยากรที่หลากหลายตามนิเวศนั้น ๆ
ดังนั้นทางเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.ให้รัฐบาลหยุดยัดเยียดเขื่อนให้แม่น้ำทุกสาย ปล่อยแม่น้ำไหลเป็นอิสระ
2.ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล โครงการผันน้ำยวม-สาละวิน โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เป็นต้น
3.ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเขื่อนเก่าที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม
4.ให้รัฐบาลสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่
เครือข่ายทั้งหมดรายชื่อดังนี้
เครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขง-อีสาน
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน
คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนภาคอีสาน
เครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด
เครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร
โครงการทามมูล
ขบวนการอีสานใหม่
เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ขอนแก่น
เครือข่ายชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชน จ.นครราชสีมา
สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายพลเมืองอาสา ตำบลบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บึงปากเขื่อน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
กลุ่มฮักบ้านเกิด บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น
กลุ่มโอโซนรักษ์บ้านเกิด
กลุ่มรักษ์คำเสือหล่ม ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี
กลุ่มเกษตรธรรม ตำบลโนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
กลุ่มชาวบ้านคัดค้านเขื่อนวังสะพุง
กลุ่มชาวบ้านคัดค้านเขื่อนศรีสองรัก
กลุ่มชาวบ้านคัดค้านเขื่อนลำน้ำก่ำ
กลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียง
กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มอนุรักษ์ห้วยโมง อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซิน
กลุ่มชาวบ้านอำเภอเกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดงคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
กลุ่มอนุรักษ์ป่าทามชุมชนบ้านเมืองไพร จ.อุดรธานี
กลุ่มเกษตรกรเพื่อรับรองสิทธิที่ดินทำกินลุ่มน้ำสงครามตอนบน จ.อุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านม่วงมีชัย จ.บึงกาฬ
กลุ่มนักเรียน-นิสินักศึกษาภาคอีสาน