จากกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดย จ่านิว -สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ วันเฉลิม กุนเสน ได้จัดชุมชุมปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ทีจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561 เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้ง และหยุดการสืบทอดอำนาจคสช.
ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงพัทยานัดฟังคำพิพากษาคดีคนอยากเลือกตั้ง 12 คน ชุมนุมที่ริมหาดพัทยาตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
คดีนี้ นับเป็นการต่อสู้เรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในเรื่องนิยามและหน้าที่ของผู้ประสงค์จัดการชุมนุม ซึ่งตามมาตรา 10 ระบุให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม แต่คดีนี้กลับมีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมชุมนุมในฐานะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมด้วย รวมถึงปัญหาความไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ที่ทำให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ตามกฎหมาย
วันนี้ ศาลแขวงพัทยาพิพากษาว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 เอาผิดเฉพาะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมหรือแกนนำเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นต้องพิเคราะห์ว่าใครบ้างที่เป็นแกนนำในการชุมนุม พิเคราะห์พฤติการณ์แล้วเห็นว่า สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’, วันเฉลิม กุนเสน, และศศวัชร์ คมนียวนิชที่เดินทางมาด้วยกัน ช่วยกันลากเครื่องขยายเสียงมีพฤติกรรมสนับสนุนร่วมกันจัดการชุมนุม ส่วนจำเลยอื่นแม้จะร่วมชูป้ายหรือถ่ายภาพก็ยังไม่ถือว่าเป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุม
ส่วนประเด็นว่าจำเลยมีเจตนาไม่แจ้งการชุมนุมหรือไม่ สิรวิชญ์อ้างว่าได้แจ้งการชุมนุมทางโทรศัพท์ต่อ ผกก.สภ.เมืองพัทยา แล้ว ศาลเห็นว่ากฎหมายได้ระบุวิธีแจ้งการชุมนุมไว้ โดยต้องแจ้งรายละเอียดการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สามารถสั่งแก้ไขได้ นอกจากนี้ จำเลยควรเดินทางแจ้งการชุมนุมด้วยตนเองที่ สภ.เมืองพัทยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำหรืออำนวยความสะดวกในการชุมนุม การที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมหลังโทรศัพท์ติดต่อกับ ผกก.สภ.เมืองพัทยา ถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุม
ศาลลงโทษปรับสิรวิชญ์, วันเฉลิม, และศศวัชร์คนละ 4,000 บาท แต่คำให้การและทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษปรับเหลือคนละ 3,000 บาท จำเลยอื่นยกฟ้อง