วันที่ 16 เม.ย. 2563 สายการบินในประเทศทั้ง 8 แห่งได้ประชุมร่วมกัน และออกเอกสาร เรียนถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สอบถามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัส COVID -19 ต้องหยุดทำการบินเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
โดยเอกสารการสอบถามดังกล่าวระบุว่า ภายหลังจากสายการบินในประเทศไทยทั้ง 8 สายการบิน อันได้แก่ ไทยสมายด์ บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ นกสกู๊ต แอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไลออนแอร์ และเวียดเจต ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรงการคลัง ถึงการขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงินโดยรวมประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุดของสายการบินในประเทศไทย
1. ขอสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนอย่างไรบ้าง
2. รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกรอบใด เพราะตามมาตรการการช่วยเหลือโดยมติ ครม. ที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่ม SME เป็นหลัก ยังไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือหรือมาตรการที่เหมาะสมรองรับธุรกิจสายการบินแต่อย่างใด
3. รัฐบาลจะให้มีเงื่อนไขหรือรายละเอียดอย่างไรสำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวแก่สายการบิน เช่น จะให้ธนาคารใดเป็นเจ้าภาพ และมีเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงวงเงินดังกล่าวได้จริง และเหมาะสมทันท่วงทีกับสถาณการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน (เช่นสายการบินไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และระยะเวลาอนุมัติไม่นาน)
4. ธุรกิจสายการบินเป็นส่วนสำคัญโดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหากวิกฤตโรคระบาดได้คลี่คลายลง เพราะเป็นส่วนที่จะนำพานักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการรักษาให้ทุกสายการบินในประเทศไทยยังคงอยู่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไรต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกครั้ง
5. ในธุรกิจสายการบินในประเทศไทยมีพนักงาน 20,000 - 30,000 คน ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนเกือบทุกสายการบินได้หยุดทำการบินทุกเส้นทาง หมายความว่าทุกสายการบินไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงจ้างงานพนักงานของตนไว้ให้มากที่สุด ดังนั้นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก