ไม่พบผลการค้นหา
รอยเตอร์สชี้รัฐบาลชุดใหม่ของไทยจะต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ 2 ด้าน คือ เศรษฐกิจซบเซา และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยเผชิญเมื่อยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีก่อน

รายงานจากรอยเตอร์สระบุว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง ครองสถานะเสียงข้างมากในสภาด้วยจำนวนเพียง 4 ที่นั่ง จึงทำให้เกิดความวิตกว่า รัฐบาลอาจจะไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญ หรือผ่านร่างกฎหมายงบประมาณได้

นายชานนท์ บุญนุช นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมุระ ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า มีความเสี่ยงที่รัฐบาลชุดนี้อาจอ่อนแอและอยู่ได้ไม่นาน และทำให้นโยบายต่างๆ ขาดความต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่สูง จะเป็นตัวฉุดรั้งแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

รอยเตอร์สบอกด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีสภาพซบเซา ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งนับเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2557 อีกทั้งเมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยังระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และคาดว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ธปท.จะปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงเวลา 6 เดือน

นายศรันต์ สุนันท์สถาพร นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อความมั่นใจของภาคเอกชน และบั่นทอนแนวโน้มของการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ เขาได้ลดการคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 3.8 ลงมาที่ร้อยละ 3.2

รายงานของรอยเตอร์สบ่งชี้ด้วยว่า ภาวะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่งของเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือนเมษายน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และเมื่อเดือนพฤษภาคม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน

นายนริศ สถาผลเดชา นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกระแสเงินสดอิสระ ซึ่งเป็นเงินสดสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ยังไม่นำมาลงทุน คิดเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ที่ 250,000 ล้านบาท

รายงานบอกด้วยว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นตัวอัดฉีดการเติบโต แต่ถ้าร่างกฎหมายงบประมาณ 2563 ไม่ผ่านสภา โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ก็อาจล่าช้าออกไป และถึงแม้มีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท แต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็จะยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนบรรยากาศการค้าการลงทุนต่อไป

ที่มา : Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :