นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินพิษโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวร้อยละ 8.8 ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 หนักมาก มาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่จะจบในเดือน มิ.ย. นี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่องออกมา ยังคงใช้ความมั่นคงนำเศรษฐกิจ ใช้ทหารนำทีมเศรษฐกิจมืออาชีพ ส่งสัญญาณต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ส่งสัญญาณให้เกิดความเชื่อมั่นด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกยืนยันเศรษฐกิจวิกฤตหนักสุดในรอบ 150 ปี รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 1.57 ล้านล้านบาท ปริมาณการค้าโลกอาจหดตัวถึงร้อยละ 10-30 ธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 37 ของมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมไทย จะประสบกับความท้าทายที่รุนแรง ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและลงทุนลดลง ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ ศบค.บอกว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นศูนย์ ครบ 14 วัน จะสามารถเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ทุกอย่างตามปกติ แต่พอเลย 14 วันที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นศูนย์ กลับบอกใหม่ว่า ต้องรอให้พ้น 28 วันไปก่อน หมายถึงต้องรอให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ 14 วันสองรอบ จึงจะมั่นใจเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
"วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ ไม่ใช่ก่อนโควิดเผาหลอก หลังโควิดเผาจริง แต่สถานการณ์เลยมาถึงจุดเก็บกระดูกลอยอังคารกันแล้วรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการแก้ปัญหาก่อนที่คนจะอดตาย" นายอนุสรณ์ กล่าว
หวั่นรัฐบริหารเงินกู้ไม่เกิดประโยชน์
นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากวิกฤติประเทศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ประชาชนนับล้านคนตกงาน ส่งผลให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบหมด ไม่สามารถเปิดร้านทำมาหากินได้ จากมาตรการรัฐบาลที่ออกมาถือเป็นการซ้ำเติมวิกฤติและปิดช่องทางทำมาหากินของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีวิกฤติไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจประเทศก็มีปัญหาอยู่แล้ว ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง การค้าขายฝืดเคือง แทนที่รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหา รัฐบาลกลับประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซ้ำเติมประชาชนให้แย่ลงไปอีก ประชาชนรับกรรมหนักขึ้นหลายเท่า หลายครอบครัวประสบปัญหาไม่มีทางออก เพราะรัฐบาลออกมาตรการโดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จากสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รัฐบาลแก้ไม่ถูกจุด การกำหนดนโยบายเน้นในด้านการลงทุน หรือ มุ่งช่วยคนรวยแต่เมินที่จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรในประเทศ รัฐบาลมักอ้างว่าทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านแก้ภัยแล้งแต่งบประมาณที่ลงไปหายไปไหนหมด เพราะพื้นที่ภาคอีสานยังแล้งซ้ำซากทุกปี
"งบประมาณจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูประเทศ จำนวน 600,000 ล้านบาท ที่กำลังจะออกมาในเดือน ก.ค. นี้ หวังว่ารัฐบาลจะเร่งในการแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรอย่างมีระบบ นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่เปิดโอกาสให้ใครเข้ามาหาประโยชน์ในเงินกู้ เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐบาลเอาเงินมาหว่านโดยไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เช่น 6 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด" นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว