สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา 'เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์' ว่าด้วยบทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้พิพากษาไม่ใช่ผู้ศักดิ์สิทธิ์
ผศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลและการหมิ่นศาล ว่า เพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและให้ศาลเป็นกลาง โดยปราศจากการแทรกแซง อย่างในประเทศอังกฤษการป้องกันการละเมิดอำนาจศาลและคุ้มครองผู้พิพากษา เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ในบริบทต่างๆภายในเขตศาลได้ แต่ภายนอกเขตศาลจะเป็นคดีความเมื่อพฤติการณ์ผู้ถูกกล่าวหา จะส่งผลสําคัญกับคดีความที่ศาลพิจารณาอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น
ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้เหมือนอังกฤษ แต่เน้นการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในศาลมากกว่าคุ้มครองเกียรติของผู้พิพากษา ดังนั้นประชาชนจึงวิพากษ์วิจารณ์ศาลหรือผู้พิพากษาได้อย่างเสรี แต่ทั้งอังกฤษและอเมริกา ต้องใช้องค์คณะอื่นมาพิจารณา คือไม่เอาองค์คณะผู้พิพากษาที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่กรณีมาตัดสินคดี
ส่วนประเทศเยอรมันที่ใช้ 'civillaw' หรือ กฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนไทยนั้นกฎหมายละเมิดอำนาจศาล มีเป้าหมายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการพิจารณาคดีอย่างเดียว ไม่เอาเรื่องการดูหมิ่นศาลมาร่วมด้วย ส่วนเรื่องเกียรติยศเมื่อเห็นว่ามีผู้วิจารณ์เสียหาย จะอยู่ในกฎหมายอื่น หรือต้องไปฟ้องคดีเอาเอง จะมาใช้กระบวนการที่ละเมิดอำนาจศาลที่ไม่มีการฟ้องคดีไม่ได้ และในเยอรมัน หากมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีโทษกักขังไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนไทยจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และคนตัดสินยังเป็นคู่ขัดแย้งอีกด้วย
ส่วนความรับผิดของผู้พิพากษา ในอนาคตต้องมีบทลงโทษผู้พิพากษาในกฎหมายไทย ซึ่งในต่างประเทศ มีการระบุไว้ในกฎหมายอาญา สำหรับประเทศไทยแม้ว่าผู้พิพากษาศาลตัดสินคดีผิดพลาด บิดเบือนกฎหมายอย่างชัดเจน ก็ไม่มีความผิดหรือไม่สามารถนำผู้พิพากษามาลงโทษได้
4 ปัญหาของการใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลของไทย
1.วาทกรรมที่ผู้พิพากษาจะบอกว่าตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธยของกษัตริย์ ที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเหนือประชาชน ซึ่งไม่ใช่สำนึกของความ "อิสระและเป็นกลาง" ดังนั้น จึงแตะต้องไม่ได้ ทำให้กฎหมายนี้ถูกใช้ในลักษณะขยายกว้างออกไป เพราะผูกติดกับความเหนือกว่าประชาชนนั้นเอง และเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ แทนที่จะใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี แต่เป็นการคุ้มครองผู้พิพากษาเป็นหลัก จึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง
2.ศาลยุติธรรมใช้องค์คณะที่เป็นคู่ขัดแย้งตัดสินคดีเอง ทั้งที่ควรใช้องค์คณะอื่นตัดสินเหมือนกับอารยะประเทศ ยกเว้นศาลปกครองของไทยในกรณีนี้
3.ข้อหาละเมิดอำนาจศาลมีอัตราโทษสูง ศาลยุติธรรมหรือศาลแพ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ส่วนศาลปกครอง ให้โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน
4.ไม่ว่าจะดูหมิ่นผู้พิพากษาโดยตรงในห้องพิจารณาคดี หรือโดยอ้อมภายนอก ก็ไม่มีการไต่สวน ไม่มีหลักประกันผู้ต้องหา ไม่มีทนาย รวมถึงไม่มีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ดังนั้น เมื่อเจอคดีละเมิดอำนาจศาล สิทธิของผู้ต้องหาจึงหายไปทั้งหมด
ทนายผู้เก็บกวาดสิ่งปฏิกูลจากเผด็จการ
ด้าน รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า กฎหมายที่ร่างมาจากเผด็จการ อย่างรัฐธรรมนูญที่ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งเป็นปัญหา เยาวชนนักศึกษาจึงเคลื่อนไหวเพื่อทำการแก้ไข เรื่องนี้ แต่ศาลกลับดำเนินคดี เพราะตำรวจและอัยการส่งฟ้อง ทนายความเหมือนมีหน้าที่เช็ดอุจจาระที่ถูกนำมาป้ายให้คนรุ่นใหม่โดยผู้มีอำนาจ
ยกตัวอย่างการพิพากษาคดีหลังการรัฐประหารปี 2557 มีคดี สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิวกับพวก แสดงความคิดเห็นที่แมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน เรียกร้องการเลือกตั้ง โดนฟ้องคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ศาลอาญายกฟ้อง เพราะผู้พิพากษาเข้าใจ เนื่องจากการออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หรือการทุจริตในการบริหารบ้านเมืองต่างๆ ไม่ใช่ความผิดนอกจากนี้ยังมี กรณี 'ชลธิชา แจ้งเร็ว' นักกิจกรรมอีกคน ที่ออกหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่กลับถูกดำเนินคดีพร้อมพวกอีก 40 กว่าคน และศาลไม่ลงโทษสักคน เพียงแต่ปรับ ชลธิชา ตามกฎหมายจราจรเท่านั้น
รัชฎา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คิดถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักและครอบคลุมเสรีภาพในการชุมนุม กลับเอากฎหมายขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง, กฎหมายจราจร มาดำเนินคดีกับนักศึกษา จึงเห็นว่าบ้านเมืองอย่างนี้มันแย่จะทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย จึงต้องออกมาแสดงออก แล้วก็ยังมาถูกดำเนินคดีอีก ซึ่งก็คือการคุกคามประชาชน จึงเป็นเหตุภายในการเรียกร้องว่า หยุดคุกคามประชาชนหรือหยุดดำเนินคดีในเรื่องไร้สาระกับประชาชนอีก
อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกชมผู้พิพากษาด้วยเพราะการตัดสินกรณี จ่านิวและชลธิชานี้ เป็นการทำหน้าที่ของเสาหลักได้ เพราะดูหลักการสำคัญคือรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงดูบริบทของสังคมด้วย แต่หลายเรื่องตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ซึ่งต้องนำมาถกเถียงกันในเชิงวิชาการต่อไป
ศาลควรยืนข้างความชอบธรรมไม่ใช่ความอยุติธรรม
ขณะที่ คอรีเยาะ มานุแซ นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยมีความท้าทายทั้งต่อประชาชน ที่จะทำให้ลุกขึ้นมาส่งเสียงตัวเองเพื่อปลดแอกจากพันธนาการ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ท้าทายอำนาจรัฐที่จะบัญญัติและบริหารบ้านเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในนามความชอบด้วยกฎหมาย ท้าทายสถาบันตุลาการ ว่าจะใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือจะสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม
พร้อมเรียกร้องให้ทุกอำนาจในประเทศนี้ มีพันธกิจหลักในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เพียงแต่ในนามของกฎหมายเท่านั้น แต่ในนามของสิทธิมนุษยชนที่คนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาค เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ขั้นต้นของหลักนิติธรรม และโดยเฉพาะสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการท่ามกลางการตระหนักรู้ และตื่นตัวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน