เมื่อเวลา 11.58 น. วันที่ 30 มิ.ย. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ล่มลงหลังเปิดการประชุมได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยมี ส.ส.แสดงตนเข้าร่วมประชุมเพียง 206 คน ซึ่งหากจะประชุมได้ต้องมีผู้ร่วมเข้าประชุม 242 คนขึ้นไป
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เริ่มในเวลา 10.30 น. โดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ ส.ส.หารือเรื่องต่างๆ จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอัตราย ฉบับที่ พ.ศ. ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยจะมีการลงมติในมาตรา 6 ต่อจากการพิจารณาครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อกดออดหรือสัญญาณเรียกสมาชิกให้เข้าห้องประชุม เพื่อแสดงตัวก่อนลงมติ ปรากฎว่ามีสมาชิกเข้าแสดงตนเป็นส่วนน้อย โดย ชวน หลีกภัย พยายามยื้อเวลารอสมาชิกให้เข้าห้องประชุมจนครบ จึงมีการกดออดหลายครั้ง
ชวน กล่าวว่า ที่ต้องกดออดหลายครั้ง เพราะปรารถนาดีต่อผู้เข้าร่วมประชุม เมื่อเลือกตั้งจะรู้ดีว่าการอยู่ในที่ประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น จะเป็นเหยื่อคู่ต่อสู้อย่างไร ใครที่มาแล้วขอให้กดบัตร
ต่อมา ชวน สั่งพักการประชุม 15 นาที จนต่อมาเมื่อกลับเข้าสู่ห้องประชุม ชวน ยังรอการแสดงตนจาก ส.ส. พร้อมระบุว่า “ผมได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาชี้แจงเมื่อตอนพัก ระบุว่าทางองค์การอาหารและยา (อย.) ต้องการกฎหมายฉบับนี้มาก เราจำเป็นมาก เป็นกฎหมายรัฐบาล ไม่ใช่กฎหมายของฝ่ายค้าน”
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า “กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอ ถ้ารัฐบาลไม่เอากฎหมายนี้ พวกผมไม่เอาก็ได้ ขอให้ประธานปิดการประชุมเถอะครับ รู้ว่าไม่พอก็ไม่พอ”
ชวน ตอบว่า ให้เวลาสักนิดหนึ่ง ส่วนตัวไม่ห่วงกฎหมาย แต่ไม่อยากให้เพื่อนๆ สอบตก เมื่อเราให้โอกาสเต็มที่แล้ว ใครก็ตำหนิเราไม่ได้ แต่คงไม่ให้โอกาสอยู่ถึงเย็น
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวว่า พรรคก้าวไกลมาประชุมครบถ้วน และพรรคร่วมฝ่ายค้านพยายามจะทำหน้าที่ ส.ส. เราเรียนหนังสือมา ว่าอำนาจนิติบัญญัตินั้น ประชาชนมอบให้ในการตรากฎหมาย ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
ด้าน ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หารือว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาพอสมควร จึงเสนอประธานกรรมาธิการถอนร่างออกไปก่อน แล้วค่อยกลับมาเสนอที่ประชุมใหม่
ด้าน อนันต์ ศรีพันธุ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในเมื่อ ส.ส.มีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประชาชนมอบหมายมา แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคยังไม่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมเลย ดังนั้น จึงเสนอท่านประธานยุบสภา เลือกตั้งใหม่ไปเลย ขณะที่ ชวน กล่าวติดตลกว่า “เดี๋ยวเลิกประชุมเราค่อยยุบ”
กระทั่งเวลา 11.58 น. ชวน สั่งปิดการประชุม โดยมีผู้แสดงตนเข้าร่วมประชุมเพียง 206 จาก ไม่ครบองค์ประชุม 242 คน
พปชร.-ภท.เข้าประชุมแต่ไม่แสดงตน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ล่มเหตุองค์ประชุมไม่ครบในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ จากการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพียงแค่ 9 คน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มี ส.ส.บางคนเข้าร่วมประชุม โดยปรากฏภาพชัดเจนตอนร่วมหารือแต่กลับไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม อาทิ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา
ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยมีผู้มาลงชื่อแสดงตนน้อยเพียง 8 คน โดยมี ส.ส.ที่เข้าประชุมแต่ไม่ร่วมลงชื่อ อาทิ วรศิษฐ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.สตูล ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา
ขณะที่ในส่วนของฝ่ายค้านก็พบว่าส.ส. เพื่อไทยไม่แสดงตน 62 คน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็น ส.ส. เขตและกังวลเรื่องของการถูกกักตัวในพื้นที่ เช่นเดียวกับ ส.ส.งูเห่าของพรรคก้าวไกลก็ไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วยเช่นกัน
'ก้าวไกล' ได้ทีจวกรัฐบาลทำสภาล่มทั้งที่เสนอกฎหมายเอง
ต่อมา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค ร่วมแถลงข่าวหลังจากสภาล่ม ว่า การที่สภาล่ม เป็นการละเลยต่อหน้าที่ การที่ประธานสภาฯ ได้จัดให้ ส.ส. หลายท่าน ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อให้ ส.ส. ได้ทำหน้าที่แบบไม่ขาดตกบกพร่อง การที่สภาล่ม ในวันนี้ ตนคงต้องถามและเตือนสติไปยัง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลว่า ส.ส.มีหน้าที่ต้องพิจารณากฎหมาย ออกกฎหมาย มี พ.ร.บ.สำคัญต้องพิจารณา อาทิ ร่างพรบ.วัตถุอันตราย พรบ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งหมดล้วนเป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น การที่สภาล่มในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนให้อภัยไม่ได้
สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า รู้สึกหดหู่ใจกับ ส.ส. ที่ไม่เข้าร่วมการประชุม กฎหมายหลายฉบับเป็นกฎหมายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมา แต่ไม่มาประชุม คราวหน้าประชาชนจะเลือกใครก็ต้องให้ดู ส.ส. ที่มาทำงานเพื่อประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นลูกจ้างของใคร คำตอบคือ เป็นลูกจ้างของประชาชน ดังนั้นประชาชนทั้งหลาย เมื่อผู้แทนฯ ไม่มาทำหน้าที่ก็ควรเลิกจ้าง โดยคราวหน้าจะเลือกใคร ก็ต้องดูคนที่มาทำงานเพื่อประชาชน และวันนี้แคมป์แรงงานปิด กลุ่มแรงงาน ไม่ได้รายได้ ไม่ได้ค่าจ้าง แต่ ส.ส. ที่ไม่มาประชุม กลับได้เงินเดือน แบบนี้มันถูกต้องหรือไม่
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวดัวยว่า ไม่แปลกใจถ้าประชาชนเบื่อนักการเมือง เกลียดนักการเมือง วันนี้ตัวชี้วัดเหล่านี้ ได้ปรากฏให้ประชาชนเห็น และในขณะเดียวกัน ตัวชี้วัดในทางบวก ก็มีให้ประชาชนเห็น ตัวอย่างเช่น พรรคก้าวไกล ที่มาทำหน้าที่ และวันนี้พรรคก้าวไกลได้พิสูจน์แล้วว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ยืนยันว่าในวันพรุ่งนี้พรรคก้าวไกลทั้งพรรคจะมาประชุมสภาฯ เช่นเดียวกัน และขอให้ประชาชนจับตาดูจะมี ส.ส. มาทำหน้าที่ที่สภาฯ หรือไม่