ไม่พบผลการค้นหา
ทำความเข้าใจพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการน้ำเบื้องต้นของ กทม. พร้อมคลี่หลายปมที่คนสงสัย จริงหรือไม่ขัดแย้งกับกรมชลประทาน จริงหรือไม่หวงพื้นที่ กทม.ปล่อยท่วมจังหวัดอื่น

“ถ้าคะแนนเต็ม 10 ผมให้ 11 ฝนมาขนาดนี้ งบประมาณเราก็ยังไม่มี”

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ให้คะแนนการจัดการน้ำท่วมในกรุงเทพฯ รอบที่ผ่านมา

เขาเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่นเดียวกันกับในยุค ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้ว่าฯ คนก่อน เพียงแต่ในยุคนั้นดูเหมือนพระเอกยังเป็นสำนักระบายน้ำ ตัวเขาเองยังไม่ได้มีโอกาสสร้างผลงานโดดเด่นนัก โดยพื้นเพอรรถเศรษฐ์มีความเชี่ยวชาญด้านการสูบ-ส่งน้ำในระบบขนาดใหญ่ และเมื่อเข้ามาบริหารเมืองในยุคผู้ว่าฯ อัศวินก็ได้ใช้เวลาศึกษาระบบคูคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ จนเชี่ยวชาญ

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

โดยแนวคิดพื้นฐาน อรรถเศรษฐ์อธิบายว่าเขาเป็นไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างอุโมงค์ยักษ์นัก เพราะใช้ต้นทุนสูงมาก ทั้งค่าก่อสร้างรวมถึงค่าไฟในการสูบน้ำ เขาเห็นว่ากรุงเทพฯ มีคูคลองมากมายที่น่าพัฒนาให้เป็น network ควบคู่กับพัฒนาสถานีสูบน้ำซึ่งต้นทุนต่ำกว่า แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาหากกรุงเทพฯ ไม่มี 4 อุโมงค์ยักษ์ที่เปิดใช้งานอยู่ มหานครแห่งนี้ก็อาจจะจมน้ำไปแล้ว เนื่องจากปริมาณฝนมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากปรากฏการณ์ลานีญ่า

“เดือนกันยายนที่ผ่านมา ฝนตกมากเป็นอุบัติการณ์ คือ 801.5 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่เคยเกิดขึ้น ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรับน้ำฝนได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่เดือนกันยายนฝนตก 178 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และตกระดับร้อยมิลลิเมตรเป็นว่าเล่น ฉะนั้น จึงต้องเกิดการรอระบาย ที่ผ่านมาเราต้องพยายามทำให้มันระบายได้เร็วขึ้น

“กรุงเทพฯ มันมีปัญหาเพราะพื้นที่เป็นแอ่งกะทะ การเอาน้ำออกต้องใช้วิธีการสูบออกเท่านั้น หัวใจจึงเป็นเครื่องสูบน้ำ ส่วนเส้นเลือดใหญ่คือคลอง เส้นเลือดฝอยก็คือท่อระบายน้ำ การจะทำให้ระบบสมบูรณ์ที่สุดต้องพัฒนาจากหัวใจก่อนเลย ถ้าหัวใจเดินได้ดี น้ำก็จะออกพื้นที่ได้เร็วขึ้น อุโมงค์ก็เหมือนกัน ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่การเอาน้ำออกอุโมงค์ก็ต้องใช้หัวใจคือปั๊ม เราต้องเรียงลำดับใหม่และต้องทำทั้งระบบ สำคัญที่สุดก็คือสถานีสูบน้ำ” อรรถเศรษฐ์กล่าว

วิธีทำงานของที่ปรึกษาผู้ว่าฯ คนนี้ก็น่าสนใจ เนื่องจากเป็นคน ‘หน้าเก่า’ สำหรับข้าราชการ การทำงานร่วมจึงไม่ใช่เรื่องยาก และเคล็ดลับก็คือ ลงพื้นที่ให้มาก เห็นด้วยตาให้มากกว่าฟังด้วยหู ปรึกษาหารือให้มากโดยให้ทุกคนกล้าแสดงความเห็น พยายามทำให้เกิด ‘แรงบันดาลใจ’ ในการทำงานภายในหมู่ข้าราชการที่รับผิดชอบ

เนื้อหาการสนทนามียิบย่อยหลายประเด็น แต่ส่วนแรกน่าจะเริ่มจากการทำความรู้จักสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯ และระบบน้ำในภาพรวมเสียก่อน

คลองหลักในกรุงเทพ
4 คลองสายหลัก กับปัญหาขยะขวางเครื่องสูบน้ำ

“ปัญหาขยะชิ้นใหญ่ๆ ที่ลอยมาติดหน้าอุโมงค์ หน้าอาคารรับน้ำเป็นปัญหาใหญ่ บางทีก็มีโซฟา ตู้เย็น ที่นอน ผ้าห่ม ฯลฯ มาจากบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองทิ้งลงมา เมื่อฝนตกหนักมันก็ไหลมา พอขยะขวางทางน้ำไว้ เครื่องสูบน้ำก็เดินไม่เต็มที่หรือเดินเครื่องเปล่า” อรรถเศรษฐ์กล่าวถึงปัญหาพื้นฐาน

  • คลองเปรมประชากร มีผู้รุกล้ำประมาณ 5,000 หลังคาเรือน ขณะนี้ กทม.กำลังทำเขื่อนริมคลอง
  • คลองลาดพร้าว มีผู้รุกล้ำประมาณ 6,000 -7,000 หลังคาเรือน กทม.พัฒนาได้ราว 50%
  • คลองแสนแสบ อาจเรียกว่าเป็น flood lane หรือคลองระบายน้ำไม่ได้ 100% เพราะมีการเดินเรือ จึงต้องควบคุมระดับน้ำให้เรือเดินได้
  • คลองประเวศบุรีรมย์อยู่ด้านล่างสุดของ กทม.
อุโมงค์ = ทางด่วนน้ำ ออกเจ้าพระยา

“ถ้าปัจจุบันเราไม่มีอุโมงค์ยักษ์พวกนี้ กรุงเทพฯ จม” อรรถเศรษฐ์อธิบาย

กทม.มีสถานีสูบน้ำหลายแห่ง สถานีใหญ่ที่สุด คือ สถานีพระโขนง หลายพื้นที่ต้องทำอุโมงค์เพื่อให้น้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด เนื่องจากกว่าน้ำจะถึงสถานีใหญ่นั้นผ่านเส้นทางคดเคี้ยวซับซ้อน

  • อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 1 คือ อุโมงค์คลองเปรมประชากร ยาว 1.5 กม. ขนาดระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที วิ่งจากบางซื่อไปลงใกล้ๆ รัฐสภาใหม่เกียกกาย  ออกแม่น้ำเจ้าพระยา
  • อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 2 คือ อุโมงค์พระรามเก้า ตัดระหว่างคลองลาดพร้าว-แสนแสบ อุโมงค์นี้นำน้ำมาออกที่พระโขนง เป็นเหมือนทางด่วนน้ำ เนื่องจากคลองมีความยาวมาก คลองลาดพร้าวยาวราว 22 กม. คลองแสนแสบยาวราว 60 กม. จึงต้องมีอุโมงค์พระราม 9 บาลานซ์น้ำระหว่างคลอง เพื่อคุมระดับน้ำในคลองแสนแสบให้เดินเรือได้ แล้วก็เป็น flood way เอาน้ำของคลองลาดพร้าวมาที่พระโขนง
  • อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 3 คือ อุโมงค์มักกะสัน อยู่ระหว่างคลองสามเสนกับบึงมักกะสัน ซึ่งรับน้ำจากกลางใจเมือง บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยฯ ราชเทวี พญาไท มีอาคารรับน้ำระหว่างทาง ช่วงบึงมักกะสันและสุขุมวิท ที่เรียกว่า อาคารรับน้ำแสนเลิศ มาออกตรงช่องนนทรี
  • อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 4 คือ อุโมงค์คลองบางซื่อ อยู่ใต้คลองบางซื่อ ตรงบริเวณระหว่างคลองลาดพร้าวตัดกับคลองบางซื่อ มีอาคารรับน้ำระหว่างทางที่รัชดา-วิภาวดี อ.ต.ก. เพื่อมาออกเกียกกาย
  • ว่าที่อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 5 กำลังจะสร้างเสร็จ คือ ‘อุโมงค์บึงหนองบอน’  แต่เกิดการทรุดตัวใช้การไม่ได้อยู่ระหว่างการแก้ไข

“การไปแก้ให้ท่อระบายน้ำใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีขนาด 60 ซม.บ้าง 80 ซม.บ้าง มันใช้เวลาและมีความยุ่งยากโดยเฉพาะการจราจร ฉะนั้นเราจึงเน้นไปที่การทำอุโมงค์ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ให้น้ำลงอุโมงค์หลักทั้ง 4 อุโมงค์ได้เยอะที่สุด เร็วที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือ เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำ

“อุโมงค์คลองบางซื่อมีจุดรับน้ำตั้ง 3-4 อาคารในต่างพื้นที่ แต่เวลาฝนตกไม่ได้ตกทุกพื้นที่ เราจึงไม่สามารถเดินได้เต็มที่เพราะจุดอื่นฝนไม่ได้ตก และยังต้องบริหารอุโมงค์ต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่ว่ามีน้ำเท่าไรต้องเอาเข้าอุโมงค์ทั้งหมด น้ำจะถูกลำเลียงตามคลอง เพราะอาคารรับน้ำโดยส่วนใหญ่อยู่ตรงคลองพอดี ที่ผ่านมา เราทำนวัตกรรมเป็น ‘คันบังคับน้ำ’ แบบชั่วคราว เช่นคลองบางซื่อกับคลองลาดพร้าว ตัดกัน 90 องศา แต่น้ำมันเลี้ยวไม่ได้ เราก็ต้องไปทำคันบังคับน้ำเพื่อให้น้ำเข้าคลองบางซื่อ แล้วไหลไปอุโมงค์ ไปอาคารรับน้ำ”

จริงหรือไม่ เครื่องสูบน้ำได้ใช้งานแค่ครึ่งเดียว

ช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา มีบางพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมรอระบาย พร้อมๆ กับข้อกล่าวหาว่าเครื่องสูบน้ำของ กทม.นั้นทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น สถานีพระโขนงมีเครื่องสูบน้ำ 55 เครื่องเดินได้แค่ 17 เครื่อง เรื่องนี้อรรถเศรษฐ์บอกว่าเป็นความเข้าใจผิด

“มันไม่ใช่ว่าเรามีแล้วเราต้องเดินให้หมด เพราะว่าระดับน้ำมันไม่ได้ เช่น คลองประเวศ ระดับน้ำเราคุมเอาไว้ สมมติ -1 เมตร เดินเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง ระดับน้ำก็ถึง -1 แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องที่ 16 แต่ที่มีเครื่องสูบน้ำจำนวนมากเพราะต้องการให้สถานีเดินได้ต่อเนื่องโดยสลับกันเดินเครื่อง หากใช้ตลอด 24 ชั่วโมงเครื่องจะดาวน์ จึงแบ่งเป็นหลายๆ เซลล์”


ไม่ยืมนาฬิกาเพื่อน แต่ยืมเครื่องสูบน้ำ !

ถามว่าทำไมฝนหนักมากกว่าปกติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือน กทม.จะควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี อรรถเศรษฐ์บอกเคล็ดลับว่า

“เรารู้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือเราไม่พอ ผมยืมเครื่องสูบน้ำกรมชล ยืมเครื่องสูบน้ำกรมทรัพยากรน้ำ ทำตั้งแต่แรกตอนยังไม่เกิดปัญหา ที่ไปไล่ยืมก่อนเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าฝนมาขนาดนี้ มันเอาไม่อยู่ แล้วเครื่องมือเราเต็มแล้ว และเราก็รู้ว่าจุดเปราะบางของเราคือที่สถานีพระโขนง เพราะช่วงนึงน้ำท่วมที่ลาดกระบัง เพราะฉะนั้นที่พระโขนงเราเอาเครื่องที่ยืมมาไปเสริม ทำให้เดินได้ตลอดเวลา 24 ชม. น้ำก็จะลดเร็ว แล้วก็เราก็ไปพัฒนาคันบังคับให้น้ำมันเลี้ยวเข้าอุโมงค์ตรงลาดพร้าวด้วย น้ำถึงลดเร็วมาก” 

เรากล้าการันตีว่าปี 66 ต้องดีกว่าปี 65 แล้วปี 67 ต้องดีกว่าปี 66”  

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี
จริงหรือไม่? ขัดแย้งกรมชลประทาน ‘ประตูระบายน้ำ’

อรรถเศรษฐ์ระบุว่า เป็นความเข้าใจผิดของคนจำนวนไม่น้อยว่า กทม.กับกรมชลประทานมีความขัดแย้งกันในเรื่องการเปิด-ปิดประตูน้ำ

เขากล่าวว่า หน้าที่ของกรมชลประทาน คือ บริหารจัดการน้ำซึ่งจะต้องมีน้ำไว้สำหรับภาคเกษตรด้วย ขณะหน้าที่ของ กทม.ง่ายกว่านั้นคือ เอาน้ำออกจากพื้นที่อย่างเดียว ฉะนั้น ระดับการควบคุมน้ำจะต่างกัน สถานีกรมชลฯ จะควบคุมน้ำระดับบวก หมายความว่าคุมระดับน้ำไว้สูงกว่าในพื้นที่ กทม. เพราะจะต้องเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมด้วยในหน้าแล้งด้วย แต่ กทม.ควบคุมน้ำระดับลบ ถ้า กทม.-กรมชลไม่ประสานจะเป็นเรื่องแย่

กทม.มีสถานีสูบน้ำในพื้นที่ของตัวเอง แต่ตามตะเข็บ กทม.ทั้งหลาย ล้วนเป็นเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน ที่จะต้องเอาน้ำลงสู่ด้านล่าง เช่น คลองประเวศ สถานีพระโขนงของ กทม.ก็ต้องประสานให้กรมชลประทานดึงน้ำไปลงที่บางประกงทางประตูประเวศน์บุรีรมย์ โดยสถานีนี้กรมชลจะคุมที่ระดับบวกเพราะพื้นที่เป็นเกษตรกรรม

“กรมชลมีความเข้าใจกับ กทม.ดีมาก กรมชลที่บริหารในเขตพื้นที่ กทม.ก็คือ ชลประทานที่ 11 เรามีการประสานงานทุกวัน ประชุมร่วมกันทุกวันจันทร์ ไม่ต้องห่วงเลยว่าเขาจะไม่ประสานงานกันในการดูแลปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด” อรรถเศรษฐ์กล่าว


จริงหรือไม่? รักษากรุงเทพฯ ปล่อยที่อื่นท่วม

นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่อรรถเศรษฐ์ระบุว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ว่า เพราะต้องการป้องกันกรุงเทพฯ จึงให้น้ำท่วมที่อื่น

เขาระบุว่า หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา ปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่กรมชลประทานปล่อยน้ำผ่านเข้ากรุงเทพฯ ทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุดถึง 3,200-3,300 กว่า ลบ.ม./วินาที ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่ากรุงเทพฯ ไม่รับน้ำ เพียงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบกับจังหวัดอื่นๆ หรือปริมณฑล กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ยาวประมาณ 80 กม. โดยมีการเสริมคันเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก 50 ซม.หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จากจุดที่เคยสูง 3 เมตรก็เป็น 3.50 เมตร จุดที่เคยสูง 2.50 เมตรก็กลายเป็น 3 เมตร เวลากรมชลปล่อยน้ำเหนือมาจึงสามารถรองรับได้มาก

อีกส่วนหนึ่งคือ กรมชลประทานต้องจัดการโดยการผันน้ำออกทางตะวันออกและตะวันตกด้วย ไม่ใช่ปล่อยเข้าเจ้าพระยาอย่างเดียว

ด้านตะวันออกจะมีการผันน้ำผ่านคลองรพีพัฒน์ลงแม่น้ำนครนายก อีกส่วนหนึ่งมาลงที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นแผนการผันน้ำปกติของกรมชลประทาน น้ำส่วนหนึ่งจึงไม่ได้ถูกส่งตรงเข้ากรุงเทพฯ แต่ก็ยังมีคลองซอยเล็กๆ น้อยๆ ที่เชื่อมกับกรุงเทพฯ และกรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ แต่มันก็มีข้อตกลงอยู่ว่ากรุงเทพฯ สามารถรับน้ำได้ขนาดไหน โดยดูตามศักยภาพของคลองด้วย ทำให้มีผลกระทบน้อยมากกับการเอาน้ำเข้าทางตะวันออก

ส่วนทางด้านตะวันตก เป็นการผันน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน ซึ่งบริเวณที่จะเป็นปัญหาคือ นนทบุรี ซึ่งติดกับกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ไม่ยอมปล่อยน้ำเข้ามา มีการเปิดประตูคลองทวีวัฒนาที่เชื่อมต่อกับคลองมหาสวัสดิ์ แล้วออกทางคลองภาษีเจริญ แล้วใช้สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานที่สถานีสูบน้ำกระทุ่มแบนนำน้ำออกแม่น้ำท่าจีนอีกทอดหนึ่ง

เขายืนยันว่า ทุกวันนี้กรุงเทพฯ ก็เปิดประตูระบายน้ำเมื่อได้รับการร้องขอจากกรมชลประทานหรือสถาบันทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) 

“ทุกวันนี้เราก็เปิดให้เข้ามาวันละ 600,000 ลบ.ม.ต่อวัน ผ่านคลองทวีวัฒนา เพื่อช่วยทางด้านนนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ไม่ใช่ว่ากทม.บล็อคไม่ให้น้ำเข้า เพียงแต่ปัญหาของแม่น้ำท่าจีน คือ มีขนาดเล็กกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าพระยารับได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที แต่แม่น้ำท่าจีนความจุอยู่แค่ประมาณ 460 ลบ.ม./วินาที และเนื่องจากแม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวมาก เวลาเจอน้ำหนุน น้ำจะค้างอยู่ตามจุดคดเคี้ยวนาน ลงช้า ไม่เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใหญ่และไม่คดเคี้ยว หนุนแล้ว ใช้เวลา 1-2 ชม.ก็ลงแล้ว” อรรถเศรษฐ์อธิบาย

เขาสรุปว่า ความแตกต่างในการบริหารจัดการน้ำ ประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ แต่ละจังหวัดมีเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน กทม.มีความพร้อมเรื่องสถานีสูบมากกว่า การเอาน้ำออกจากพื้นที่จึงทำได้เร็วกว่า เครื่องสูบน้ำของ กทม.ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีมีกำลังสูบออกประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งค่อนข้างเยอะ สามารถผ่องน้ำออกได้ทั้งซ้ายและขวา ตรงกลางคือเจ้าพระยา ด้านตะวันออกเอาออกบางปะกงได้ ออกสู่อ่าวไทยทางด้านล่าง ผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยประสานงานกับกรมชลประทาน อีกส่วนคือด้านตะวันตก เอาออกทางคลองสนามไชย ออกแม่น้ำท่าจีนได้ โดยประสานงานกับกรมชลประทาน

“ความพร้อมของกทม.มีมากกว่าจังหวัดอื่นโดยตัวของระบบเอง” อรรถเศรษฐ์กล่าว


กทม.ไม่กังวลน้ำเหนือ

จนถึงปลายเดือนตุลาคม หลายจังหวัดยังคงเผชิญกับน้ำท่วม แม้ฝนในกรุงเทพฯ ทิ้งช่วงไปแล้วและเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว (ร้อนน้อย) ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะภาคกลางก็เก็บน้ำไว้เกินความจุกันหมดแล้ว เรื่อง ‘น้ำเหนือ’ ที่จะลงอ่าวไทยจะสร้างผลกระทบอะไรให้กรุงเทพฯ อีกหรือไม่ เรื่องนี้อรรถเศรษฐ์บอกว่าไม่น่ากังวลใจ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยารับได้รับสูงสุดราว 3,500 ลบ.ม./วินาที มีเขื่อนตลอดสองแนวฝั่งเกือบสมบูรณ์แล้ว

หากน้ำเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยลงมาก็จะมาเจอเขื่อนพระราม 6  ถัดไปเจอเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คลองที่จะมีความสำคัญด้านตะวันออกก็คือ คลองระพีพัฒน์ ซึ่งมีคลองแยกออกมาอีก 2 ส่วนคือ คลองระพีพัฒน์แยกตก และคลองระพีพัฒน์แยกใต้ เชื่อมกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง ไปสู่แม่น้ำนครนายกฯ ก่อนออกบางปะกง และบางส่วนวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งมีคลองไซฟ่อนไปชนกับคลองแสนแสบ จากคลองแสนแสบจะมีคลองย่อยคือ คลองลำปะทิวที่ไหลลงด้านล่างไปตัดกับคลองประเวศมณีรมย์ ออกที่สถานีร้อยคิวหรือสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของกรมชลประทานที่ จ.สมุทรปราการ

ส่วนฝั่งตะวันตกจะละเอียดอ่อนมากกว่าในแง่ที่จะไปกระทบกับนนทบุรี คลองสำคัญของฝั่งธนบุรีคือ คลองมหาสวัสดิ์ ถัดลงมาคือ คลองภาษีเจริญ ส่วนที่มีความสำคัญที่เป็นคลองแนวดิ่งคือ คลองทวีวัฒนา ที่ตอนนี้ กทม.ไม่ได้ให้น้ำเข้า เพราะมีประตูคลองทวีวัฒนาตรงจุดที่ตัดกับคลองมหาสวัสดิ์ ส่งต่อให้สถานีสูบน้ำของกรมชลที่จะดึงน้ำออกจากคลองภาษีเจริญไปแม่น้ำท่าจีน นอกจากนี้ด้านฝั่งธนฯ พื้นที่นั้นสูงกว่าฝั่งพระนคร

อรรถเศรษฐ์ระบุด้วยว่า หากแม่น้ำท่าจีนล้น น้ำจะท่วมและกระทบกับนนทบุรี แต่เข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้เพราะมีประตูทวีวัฒนาอยู่คอยกั้นอยู่ ตอนนี้ กทม.กดระดับน้ำในคลองทวีวัฒนาให้ต่ำ และจะเปิดประตูน้ำเพื่อช่วยนนทบุรีให้น้ำผ่านมาในพื้นที่ กทม. เพราะแม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยว เวลาที่น้ำหนุนน้ำมันจะค้างตามที่พื้นที่ที่คดเคี้ยว พอเจอน้ำเหนือก็ปล่อยออกมาจากอ.บางบาล จ.อยุธยา ต.โผงเผง จ.อ่างทอง จึงยิ่งลำบาก

“มันจะมอง กทม. อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองภาพรวมปริมณฑลทั้งหมด ทำไมนนทบุรีถึงรอระบายนาน แต่กรุงเทพแห้งเร็ว นนทบุรีเขาก็มีปัญหา เขามีคลองที่ต้องพัฒนาเพื่อเอาน้ำออก และหลายคลองก็เป็นส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกันเพราะเชื่อมต่อกัน จึงต้องร่วมมือกัน นนทบุรี-ปทุมธานี-กรุงเทพฯ พัฒนาคลองของตนเองเป็นที่รับน้ำได้ดี กทม.ก็พัฒนาสถานีสูบน้ำปลายทางให้ดีเพื่อเอาน้ำออกเข้าสู่เจ้าพระยา ต้องเป็นภาพการจัดการพัฒนาร่วม ผู้ว่าฯ ของแต่ละจังหวัดถึงต้องคุยกัน”

แผนข้างหน้า เพิ่มเครื่องสูบน้ำ- ปรับ 24 จุดเสี่ยง

ราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมถอดบทเรียน ‘น้ำรอระบาย’ ของ กทม. อรรถเศรษฐ์ระบุว่า ได้ข้อสรุปว่าต้องทำหลายอย่าง โครงการบางส่วนอยู่ในแผนอยู่แล้ว บางส่วนจะใช้งบประมาณปี 66-67 บางส่วนอาจใช้งบกลางของกทม. และบางส่วนจะขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เช่น

24 จุดฟันหลอ เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  • จะพัฒนาสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าสถานีพระโขนง สถานีสามเสน ให้สามารถรับน้ำได้ต่อเนื่องตลอดเวลา โดยการทำ reservoir (แอ่งสะสมน้ำ) หน้าสถานีสูบน้ำ
  • โครงการรูทีนที่ต้องทำมากขึ้นคือ การขุดลอกคูคลอง-ท่อระบาย คลองใน กทม.ทั้งหมดยาว 2,600 กม.จะเพิ่มระยะทางในการขุดลอกให้มากขึ้น ส่วนท่อระบายน้ำรวมระยทางกว่า 20,000 กม. ปีหนึ่งๆ จะขุดลอกได้ประมาณ 6,000 กม.ต่อปี แต่ปี 2566 ด้วยความร่วมมือกับราชทัณฑ์จะเพิ่มเป็น 8,000-10,000 กม.
  • นวัตกรรม ‘คันบังคับน้ำ’ ที่ทดลองทำเพื่อเอาน้ำเข้าอุโมงค์บางซื่อและอุโมงค์มักกะสัน จากที่ทำแบบชั่วคราวก็จะทำเป็นการถาวร
  • เพิ่มจุดตั้งเครื่องสูบน้ำ ด้านถนนรามอินทราฝั่งเลขคี่ ย่านอุดมสุข คลองเปรมประชากร
  • จัดซื้อเครื่องสูบน้ำเข้ามาทดแทนจากที่ ยืมจากหน่วยงานอื่น โดยใช้เครื่องที่เรียกว่าไฮโดริกปั๊มซึ่งมีกำลังการสูบค่อนข้างสูง และเดินเครื่องได้ 24 ชม.โดยจะซื้อขนาด 30 นิ้ว 6 เครื่อง, 16 นิ้ว 10 เครื่อง, สถานีหลักที่ต้องเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ คือ สถานีพระโขนง 20 เครื่อง สถานีสามเสน 15 เครื่อง
  • เรื่องน้ำหนุน จะมีการซ่อมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา เรามีจุดฟันหลอ 24 จุด ทั้งซ่อมแซมและทำเพิ่มเติม