ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. และ คำสั่งคณะรัฐประหารทุกฉบับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย การเมืองเชิงโครงสร้าง สู่ประชาธิปไตยที่กินได้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย
1.1 ยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
1.2 แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น
- การตีความคำว่า “ชุมนุมสาธารณะ” ที่ถูกตีความอย่างกว้างที่ก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมาย
- การไม่แจ้งการชุมนุมหรือแจ้งล่วงหน้าอาจไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการขออนุญาตที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะอนุญาตหรือไม่
- การชุมนุมต้องได้รับการอนุญาตในทุกกรณี เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ รัฐต้องเข้ามาดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม มิใช่การเข้ามาขัดขวางหรือเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน มิใช่เพื่อเป็นการขัดขวางการชุมนุมสาธารณะของประชาชนที่จะแสดงออกทางการเมือง
1.3 แก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่ให้ครอบคลุมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ที่ถูกใช้สำหรับดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือนักสิทธิมนุษยชน โดยการฟ้องตาม พ.ร.บ.นี้มีโทษสูงกว่า การหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ฯ จึงเป็นการจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องได้รับการปรับปรุง/แก้ไข
1.4 ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการขอข้อมูล ยึด ค้น เจาะ ทำสำเนาข้อมูล ส่องข้อมูลแบบ Real-Time และในกรณีจำเป็นเร่งด่วนสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องหมายศาล ซึ่งการยึด ค้น เจาะหรือขอข้อมูลใด ๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับนี้มีลักษณะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายจากการที่ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับนี้สามารถตีความได้กว้างและครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์
1.5 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในด้านต่างๆ เช่น ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน, สมาชิกรัฐสภา (ส.ส., ส.ว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน, ที่มาของตุลาการต้องยึดโยงกับรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของประชาชน
1.6 ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน
1.7 ปรับปรุงระบบเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน จัดกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยให้มีกลไกแก้ไขปัญหาที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา โดยให้กลไกแก้ไขปัญหาดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลา 60 วัน นับจากการรับเรื่องร้องทุกข์ แล้วส่งให้คณะผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน