กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ APHR (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 นี้ สมาชิกสภาทั่วภูมิภาคต่างกังวลว่า ผู้นำอาเซียนจะล้มเหลวอีกครั้งในการอภิปรายถกเถียงเรื่องเผด็จการอำนาจนิยม ที่ก่อตัวขึ้นในภูมิภาคและการไม่ธำรงต่อการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐจะปกป้องสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกดขี่โรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในเมียนมา การทำลายประชาธิปไตยและทำร้ายผู้เห็นต่างในกัมพูชา การไม่รับผิดชอบต่อการวิสามัญฆาตกรรมเหยื่อหลายพันคนในฟิลิปปินส์ การจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย รวมถึงการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเชียนเพื่อสิทธิมนุษยชน
นายชาร์ลส ซานติเอโก สมาชิกรัฐสภามาเลเซียและประธาน APHR กล่าวว่า รายการสิ่งที่ควรจะได้รับการถกเถียงอภิปราย ณ ประชุมสุดยอดอาเซียนนั้นยาวเกินไปและเป็นประเด็นร้ายแรงเกินกว่าจะสาธยายรายละเอียดได้เพียงพอ แต่เรารู้กันดีว่าความเป็นไปได้ที่ประเด็นเหล่านั้นจะได้รับการกล่าวถึงในการประชุมมีน้อยเต็มที APHR และองค์กรภาคประชาสังคมจึงได้เรียกร้องหลายครั้งหลายคราให้อาเชียนลุกขึ้นมา แต่อาเซียนก็ล้มเหลวทุกครั้งไป ไม่ว่าผู้นำบางคนจะมีความตั้งใจดีเช่นไร อาเซียนก็ไม่มีพื้นที่แม้แต่นิ้วเดียวให้แก่การสนทนาอย่างมีความหมายในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชากรอาเซียน
ท่ามกลางความกังวลหลายอย่างที่จำเป็นต้องได้รับความสนใจจากภูมิภาคอย่างเร่งด่วน APHR เน้นย้ำความล้มเหลวของอาเซียนในการโต้ตอบอย่างเพียงพอต่อข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนและการรับรองความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่ออาชญากรรม
นางอีวา ซุนดารี อดีตสมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียและบอร์ด APHR กล่าวว่า ความทุกข์ทรมานของโรฮิงญาไม่มีวี่แววว่าจะจบลง อาเซียนจะต้องรับผิดชอบและใช้สถานะกดดันเมียนมาให้แก้ปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ ซึ่งรวมถึงการฟื้นคืนสิทธิของโรฮิงญา การหารือเรื่องการส่งกลับประเทศไม่มีความหมายอะไร ถ้าเราไม่ฟังความต้องการของโรฮิงญา และถ้าเมียนมาไม่สามารถรับรองความปลอดภัยและเกียรติของพวกเขาได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการก็ปิดพื้นที่ทางประชาธิปไตยและพุ่งเป้าไปยังนักกิจกรรมและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลอย่างสันติ
ตามข้อมูลที่ APHR เก็บได้ พบว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามฝ่ายค้านในกัมพูชาไทย และฟิลิปปินส์ในปีนี้ มีนักกิจกรรมกว่า 50 คน และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านคือพรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี และถูกบังคับให้ยอมรับต่อ "อาชญากรรม" เพียงเพราะแสดงออกอย่างสันติโดยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในประชาชนทั่วไป
ขณะที่ในประเทศไทย ผู้มีอำนาจจะต้องยกเลิกการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และหยุดความพยายามในการปิดปากฝ้ายด้านและภาคประชาสังคม นอกจากนี้ APHR ยังได้ออกรายงานเปิดเผยการปราบปรามฝ่ายค้านโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์อีกด้วย
สมาชิกรัฐสภาเตือนอาเซียนว่า การล้มเหลวในการทำตามหลักการประชาธิปไตยตามที่กล่าวไว้และในการให้ประเทศสมาชิกรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนอาจทำให้อาเซียนเกิดรอยร้าว สมาชิกรัฐสภายังเน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของนานาชาติในการผลักดันความเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคผู้นำอาเซียนจะพบปะกับพันธมิตรหลักในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมสุดยอดอื่นๆ กับจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหประชาชาติด้วย
นายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกรัฐสภาไทยและสมาชิกบอร์ด APHR กล่าวว่า การสนับสนุนระบอบเผด็จการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คนจะไม่นำพาเราไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรื่องในระยะยาวที่อาเซียนคาดหวัง เราต้องไม่ลืมว่า ลาว บรูไนและเวียดนามไม่ได้เข้าใกล้การเปิดประเทศมากไปกว่าที่เคยเป็นมื่อทศวรรษที่แล้ว
"ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำ ต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างโดยการลุกขึ้นพูด และผู้นำจากนานาชาติที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนจะต้องกระตุ้นอาเชียนและประเทศสมาชิกให้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างถึงที่สุด"นายกษิต กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :