รายงานดังกล่าวซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. โดยคณะวิเคราะห์ สนับสนุน และตรวจสอบการคว่ำบาตรของ UNSC กล่าวว่า โครงสร้างการปกครองของตาลีบันยังคง “กีดกันอย่างมาก มีชาวปาทานเป็นศูนย์กลางและได้รับการกดขี่” ต่อฝ่ายตรงข้ามในทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ รายงานยังกล่าวว่าการกลับมาของระบอบการปกครองในกันดาฮาร์ ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริง เช่นเดียวกับในช่วงที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานในทศวรรษที่ 1990 ขัดขวางการทำงานของรัฐมนตรีอาวุโสของตาลีบันในกรุงคาบูล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากแนวคิดวิธีการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ต่างกัน รายงานยังกล่าวอีกว่า กลุ่มตาลีบันกำลังต่อสู้กับความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับนโยบายหลัก การรวมศูนย์อำนาจ และการควบคุมการเงินและทรัพยากรธรรมชาติในอัฟกานิสถาน
รายงานของ UNSC ระบุเสริมอีกว่า การแย่งชิงอำนาจที่กำลังดำเนินอยู่ในอัฟกานิสถาน ยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงมีความสั่นคลอนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่จุดที่การปะทุของความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างกลุ่มคู่ขัดแย้ง ถือเป็นความเสี่ยงที่ชัดแจ้งต่อวิกฤตในอัฟกานิสถาน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โฆษกตาลีบันอย่างน้อย 2 คนที่ประจำอยู่ในกรุงคาบูล ถูกขอให้ย้ายไปยังเมืองทางตอนใต้ของกันดาฮาร์ ทำให้มีการคาดเดาเกี่ยวกับการย้ายอำนาจจากเมืองหลวงไปยังเมืองทางใต้ของกันดาฮาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนซาดา ผู้นำสูงสุดตาลีบันอาศัยอยู่
ในเดือน เม.ย. ซาบิอุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกหลักของตาลีบัน ถูกขอให้ทำงานจากทั้ง 2 แห่ง ในขณะที่ อินนามุลเลาะห์ ซามังกานี รองโฆษกรัฐบาลชั่วคราวอีกคนหนึ่ง ถูกย้ายไปที่กันดาฮาร์ โดยกระทรวงข้อมูลข่าวสารของตาลีบันไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ สำหรับการย้ายดังกล่าว
ทั้งนี้ มูจาฮิดปฏิเสธ “ข้อกล่าวหา” ของรายงาน UNSC เรื่องความขัดแย้ง โดยเขากล่าวว่ารายงานนี้ไม่มีมูลความจริงและแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นศัตรูที่ชัดเจน” ต่อชาวอัฟกัน พร้อมชี้ว่าข่าวลือความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำของกลุ่มตาลีบัน เป็นความต่อเนื่องของการโฆษณาชวนเชื่อในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากสงครามและการยึดครองอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ “การเผยแพร่รายงานที่มีอคติและไม่มีมูลความจริงดังกล่าวโดยคณะมนตรีความมั่นคง ไม่ได้ช่วยอัฟกานิสถานเกิดสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่กลับเพิ่มความกังวลให้กับประชาชน (ชาวอัฟกัน)” มูจาฮิดระบุ
นับตั้งแต่การยึดอำนาจปกครองประเทศในเดือน ส.ค. 2564 ตาลีบันได้ขยายการควบคุมเสรีภาพสื่อและสิทธิสตรี โดยพวกเขายังคงปิดโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กผู้หญิง ทั้งนี้ ในช่วงแรกหลังการยึดครอง เจ้าหน้าที่ตาลีบันสัญญาว่าจะเปิดโรงเรียนอีกครั้ง หลังการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้แน่ใจว่ามีการแบ่งแยกห้องเรียนตามเพศ แต่ตาลีบันกลับเพิ่มการกดขี่สิทธิสตรีเป็น 2 เท่าในการห้ามผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและเข้าถึงการจ้างงาน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า คำสั่งต่างๆ เช่น การยกเว้นผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากการศึกษาและการทำงานนั้น ออกมาจากระบอบการปกครองที่แท้จริงของตาลีบัน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกันดาฮาร์ ที่เป็นฐานของหัวหน้าตาลีบัน แม้จะมีรายงานว่าผู้นำตาลีบันหลายคนสนับสนุนการเสริมอำนาจของผู้หญิง ด้วยการอ้างหลักการศาสนาว่าอิสลามรับประกันสิทธิของผู้หญิงในการศึกษาและการทำงาน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตาลีบันปฏิเสธว่าไม่มีความแตกแยกในหมู่ผู้นำตามรายงานแต่อย่างใด
รายงาน UNSC กล่าวถึงอาคุนซาดา ผู้นำสูงสุดของตาลีบันว่าเป็นคน "สันโดษและเข้าใจยาก" และกล่าวว่าเขามีมาตรการที่ซับซ้อนเพื่อรับรองความปลอดภัยในขณะที่จัดการประชุม นอกจากนี้ รายงานยังอ้างถึงรัฐสมาชิก UNSC ที่ไม่ระบุชื่อว่า อาคุนซาดารอดชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ทำให้ระบบทางเดินหายใจของเขาอ่อนแอลง นอกเหนือจากปัญหาไตที่มีอยู่ นำไปสู่การบ่งชี้ว่า อาคุนซาดากำลังรอให้สุขภาพของเขาดีขึ้น เพื่อไปสู่การสืบทอดตำแหน่งคนต่อไป
“ไฮบาตุลเลาะห์อดทนต่อแรงกดดันจากภายนอกอย่างภาคภูมิในการกลั่นกรองนโยบายของเขา” รายงานฉบับวันที่ 1 มิ.ย. ระบุ “ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผู้นำตาลีบันคนอื่นๆ ที่มีฐานอยู่ในกรุงคาบูลสามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายได้อย่างมีนัยสำคัญ มันมีโอกาสเล็กน้อยที่จะมีการเปลี่ยนแปลง (นโยบาย) ในระยะใกล้ถึงระยะกลาง”
ที่มา: