ไม่พบผลการค้นหา
สามธีมสำคัญของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้ ได้แก่ การต่อต้านเผด็จการ การแก้ไขและปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
“ไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีประชาธิปไตยใดที่เสร็จสิ้น ทุกสิ่งที่ได้รับ ทุกอุปสรรคที่พังทลาย เป็นผลมาจากการทำงานอย่างมุ่งมั่นและไม่หยุดยั้ง”


เมื่อวันพฤหัสบดี (9 พ.ย.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ร่วมกับผู้นำโลก 110 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

ไบเดนร้องขอให้แต่ละประเทศร่วมกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก และเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิและเสรีภาพในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับลัทธิเผด็จการที่ขยายตัวมากขึ้น ยุคที่เสรีภาพทั่วโลกอยู่ภายใต้การคุกคามจากเผด็จการที่แสวงหาการขยายอำนาจและอิทธิพล พยายามหาเหตุผลรองรับการกดขี่

“ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เราต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ในแต่ละรุ่น ในความเห็นของผม นี่คือความท้าทายที่สำคัญในยุคของเรา”

ในคำกล่าวเปิดงาน ไบเดนไม่ได้พูดถึงจีนและรัสเซีย แต่ทั้งสองประเทศไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้ที่ได้รับคำเชิญเข้าร่วมงาน รวมทั้งประเทศไทย โดยประเทศในอาเซียนที่ได้รับเชิญเข้าร่วมมีเพียงแค่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศจีน


USA-BIDEN-DEMOCRACY.JPG


วันแรกคุยเรื่องอะไรกันไปบ้าง?

สามธีมสำคัญของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้ ได้แก่ การต่อต้านเผด็จการ การแก้ไขและปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเสนอแผนนโยบายเฉพาะ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อที่จะลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกับตามธีมทั้งสามของการประชุม

ในวันแรกมีการพูดคุยเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อทำให้โลกฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมี จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ร่วมอภิปราย

อาร์เดิร์นกล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีและดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือรู้สึกไม่คุ้นเคยถูกผลักออกไป ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม การรักษาคุณค่าและหลักการทางประชาธิปไตยในยุคดิจิทัลจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดวางแผนอย่างรอบคอบ

“รัฐบาลไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือความชอบธรรมในการดำเนินการทั้งหมด แนวทางที่ให้ความสำคัญแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจึงมีความสำคัญ ฉันเชื่อมั่นในเรื่องการเปิดรับความแข็งแกร่งของความหลากหลายที่เรามี แนวทางที่เปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายนั้นมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ เป็นแนวทางที่ยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันแรก มีการตั้งคำถามว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้หรือไม่ เนื่องจากมีผู้นำประเทศที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ามีแนวโน้มเป็นเผด็จการ เช่น ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ และบราซิล เข้าร่วมด้วย


สหรัฐฯ จะกลับมาปกป้องประชาธิปไตยโลก?

การประชุมครั้งนี้เป็นการทดสอบคำยืนยันของไบเดน ซึ่งเคยประกาศไว้ในคำปราศรัยนโยบายต่างประเทศครั้งแรกของเขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าเขาจะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำระดับโลกเพื่อเผชิญหน้ากับเผด็จการอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียสถานะนี้ไปภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ในการประชุมวันแรก สหรัฐอเมริกาได้ประกาศการจะแทรกแซงสถานการณ์ในอิหร่าน ซีเรีย และยูกันดา โดยระบุว่า ทั้งสามประเทศกดขี่ประชากรของตัวเอง รวมทั้งจะจัดการกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับการทุจริตและแก๊งอาชญากรในประเทศโคโซโวและอเมริกากลาง

สหรัฐฯ ยังสัญญาว่า หลังการประชุมครั้งนี้สิ้นสุดลง สหรัฐฯ จะใช้เวลาหนึ่งปีในการดำเนินการและติดตามความคืบหน้าที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนี้ทำเนียบขาวกล่าวว่า กำลังทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อมอบเงินกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ให้กับโครงการใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนสื่ออิสระด้วย

อย่างไรก็ตาม การประชุมในสัปดาห์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับคำถามเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา เนื่องจากโจ ไบเดนเองก็กำลังดิ้นรนที่จะผ่านวาระการประชุมของเขาเข้าสู่รัฐสภาที่มีการแบ่งขั้วเช่นกัน


ที่มา:

https://www.reuters.com/world/us/biden-summit-democracy-rally-nations-against-rising-authoritarianism-2021-12-09/

https://www.state.gov/summit-for-democracy/