วันที่ 8 ธ.ค.2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) สนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นเรื่องเพื่อร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบสอบนโยบายพรรคเพื่อไทย ประเด็น ปริญญาตรี 25,000 และค่าแรง 600 บาท
สนธิญา กล่าวว่า ตนมายื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย 3 ประเด็น หลังกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
1.) นโยบายถมทะเลในพื้นที่จะจังหวัดสมุทรปราการสมุทรสาคร สมุทรสงคราม (พื้นที่รวม 100 กว่ากิโลเมตร) เพื่อกันน้ำทะเลหนุนและเพิ่มแผ่นดิน ซึ่งเป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ตนคัดค้านมาตลอด เพราะต้องใช้งบประมาณมาก และถมทะเลออกไปเยอะ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับสัตว์ทะเล ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านบริเวณนั้น โดยตนมองว่านี่เป็นนโยบายขายฝัน และหากจะทำ ต้องใช้เงินกว่าแสนล้านซึ่งจะเอามาจากที่ไหน
2.) ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ถ้าจริงผมยินดีด้วย แต่เมื่อตนเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน 10 ประเทศ ค่าแรงปัจจุบันต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น ฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในปี 2566 เมื่อเข้าไปจะต้องปรับค่าแรงปีละประมาณ 70 บาท จนครบปี 2570 ที่ 600 บาทต่อวัน แต่ผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องค่าแรงคือบริษัทผู้ลงทุน จะกระทบไปทั้งวงจรของประเทศไทย ซึ่งตรงข้ามกับที่ แพทองธาร อ้างว่าจะไม่กระทบกับรัฐบาล
พร้อมมองอีกว่า นโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยจะเป็นการสกัดกลุ่มทุนบริษัทซาอุดีอาระเบีย ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย กว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2566 รวมถึงจะเป็นการสกัดบริษัทที่จะมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อีก 3-4 แสนล้าน เพราะนโยบายเพิ่มค่าแรง จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้บริษัทเหล่านั้น
สนธิญา ย้ำว่า นโยบาย 600 บาทนี้ จะเป็นนโยบายที่ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างชัดเจน
3.) ประเด็นเงินเดือนเริ่มต้นเมื่อจบปริญญาตรี 25,000 บาทนั้น มองว่าที่ผ่านมาจากการปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท กระทบตรงไหนบ้าง ฉะนั้นการปรับอย่างนี้จึงอาจไม่เป็นธรรมกับคนที่ทำงานมาก่อนและจะส่งกระทบต่อระบบต่างๆ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ตนจึงมาเรียกร้องให้ กกต. พิจารณานโยบายใน 3 ประเด็นนี้ของพรรคเพื่อไทย ว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องที่มาของนโยบายเหล่านี้อย่างไร
เมื่อถามว่า การที่ออกมาร้องนี้จะไม่เป็นการตีตนไปก่อนไข้หรือไม่ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะเริ่มในปี 2570 สนธิญา ระบุว่า ไม่ตีตน เพราะนี่จะเป็นการวางบรรทัดฐานเดียวกันในทุกพรรคการเมือง ถ้าจะดำเนินนโยบายอะไรก็ควรอยู่ในฐานของความเป็นจริงและเป็นไปได้ ซึ่งหลังจากนี้ถ้าพรรคการเมืองใดออกนโยบายลักษณะนี้มาตนก็จะไล่ตรวจสอบทุกพรรค
เมื่อถามว่า กรณีนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำไม่ได้ ตนจะทำอย่างไร สนธิญา กล่าวว่า ขอให้ไปดูบริบท 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงปี 2562 ประเทศไทยเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งตอนนั้นโรงงานปิด และผู้คนก็ตกงาน ก่อนปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
สนธิญา เปิดเผยอีกว่า สัปดาห์หน้าตนจะไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย กรณีรับเงินบริจาคจากบริษัทที่เจ้าของมีธุรกิจในกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อปี 2554 และหลังบริจาคผลประกอบการสูงขึ้นถึง 150%
เมื่อถามว่า จะมีการยื่นตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ กรณีที่ ตู้ห่าว บริจาคเงิน 3 ล้านบาทหรือไม่ สนธิยา ระบุว่า คนอื่นยื่นไปแล้ว ตนไม่ยื่น เพราะ กกต.เขารู้อยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า ทำไมตนไม่ยื่น สนธิญา ระบุว่า "ผมพวกรัฐบาล ผมจะยื่นได้ยังไง"
ส่วนจะมองว่าเป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ สนธิญา ระบุว่า จะมอง 2 หรือ 3 มาตรฐานไม่เป็นไร แต่ขอให้มองการกระทำของตน ซึ่งฝ่ายไหนถ้าทำผิดกฎหมายแล้วตนไม่ร้องแสดงว่าตนไม่มีคุณธรรม พร้อมยืนยันว่าตนก็เคยร้องพลังประชารัฐ 2-3 เรื่อง ส่วนการรับบริจาคเงินพรรค พลังประชารัฐ กับตู้ห่าว เป็นหน้าที่ กกต. เพราะมีเอกสารครบอยู่แล้ว และก็มีคนอื่นร้องและแถลงอยู่ทุกวัน