ไม่พบผลการค้นหา
'เฉลิมชัย' สั่งกรมปศุสัตว์ป้องกันการระบาดเนื้อวัวเทียม หวั่นกระทบผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดประสาน "ดีเอสไอ" ดำเนินการต่อผู้ค้าทางออนไลน์ที่ส่งสินค้าทั่วประเทศอย่างเฉียบขาด

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มอบหมายให้อธิบดีกรมปศุสัตว์จัดคณะทำงาน รวมทั้งร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ แก้ปัญหาการนำเนื้อหมูมาหลอกจำหน่ายเป็นเนื้อวัว โดยนำเนื้อหมูมาหมักเลือดวัว ซึ่งพบทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นการหลอกลวงที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภคอาหารฮาลาล หลังสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิม เข้าหารือว่าพบการขายตามเขียงและรถเร่ รวมทั้งขายผ่านออนไลน์ 

นอกจากนี้ยังนำตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ ทั้งเนื้อสดและอาหารที่ปรุงแล้ว ซึ่งใช้เนื้อวัวเทียมเป็นวัตถุดิบที่ขายในโรงเรียนรวม 42 ตัวอย่าง ปรากฏว่าเป็นเนื้อหมูหมักเลือดวัวถึง 70% ส่วนตัวอย่างที่ขายผ่านออนไลน์เป็นเนื้อวัวเทียมทุกตัวอย่าง 100 รวมทั้งยังพบเชื้อโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้คณะกรรมการกลางอิสลามฯ และสถาบันมาตรฐานฮาลาล รวมทั้งสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมกังวลว่า ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอาหารฮาลาลชาวไทย อีกทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นในมาตรฐานฮาลาลของผู้ประกอบการกว่า 150,000 ราย ส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน รวมทั้งชาวมุสลิมที่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย จึงสั่งการให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาด

เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยและผลิตอาหารปลอดภัย นโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ส่งเสริมการส่งออกอาหารปลอดภัย รวมทั้งอาหารฮาลาลด้วยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการอาหารที่ได้รับมาตรฐานถูกต้อง ปัจจุบันไทยส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 11 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากจีนเท่านั้น ส่วนตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ที่เติบโตเร็ว จึงมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาล

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมเชิญผู้แทน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.คบ.) สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมเพื่อหารือเร่งด่วน

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. กรมปศุสัตว์ร่วมกับ บก.คบ. จับกุมผู้ค้าเนื้อวัวเทียมหลายรายในจังหวัดปราจีนบุรีและกรุงเทพมหานคร แต่ต้องหาแนวทางดำเนินการกับผู้ค้าออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนมากและส่งสินค้าทั่วประเทศ จึงประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทางดีเอสไอ สคบ. และ อย. ร่วมปราบปราม โดยใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีโทษทั้งจำและปรับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญาตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์, พ.รบ.คุ้มครองผู้บริโภค, พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่าย, และ พ.ร.บ.อาหารและยา เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน ดังนี้การสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค ป้องปรามผู้ค้า ปราบปรามผู้กระทำผิด ส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล ระบบตรวจสอบย้อนกลับจากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคอาฮาลทั้งในและต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง