ไม่พบผลการค้นหา
ครอบครัวผู้ประสบภัย 'พายุปาบึก' เล่าวินาทีขนย้ายชาวบ้านไปที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัย เพราะความล่าช้าในการอพยพกว่าประกาศเตือนภัย ทำให้พวกเขาต้องเลือกชีวิตเพื่อนบ้านจนทรัพย์สินในบ้านถูกน้ำท่วมเสียหายจนแทบหมดตัว

นางนวรัตน์ ทองแก้ว อายุ 42 ปี ผู้ประสบภัยชาวหมู่บ้านเกาะนางโดย ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เล่าเหตุการณ์ก่อนพายุปาบึกจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง อ.ปากพนังว่า หลังจากทางจังหวัดประกาศเตือนภัยในวันที่ 3 ม.ค. แต่ตนและชาวบ้านไม่คาดคิดว่าพายุจะรุนแรงขนาดนี้ ทำให้มีการอพยพขนย้ายสิ่งของจริงวันที่ 4 ม.ค. ตอนนั้นครอบครัวที่มีรถกระบะในหมู่บ้านมีไม่มาก บางครอบครัวขนย้ายข้าวของไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ครอบครัวของตนและเพื่อนบ้านต้องแวะรับส่งชาวบ้านระหว่างทางกลับไปขนของที่แพ็ครอไว้ที่บ้านของตัวเองหลายต่อหลายรอบทั้งแต่เช้า จนขนย้ายคนในหมู่บ้านหมดก็ล่วงเวลามาถึงเที่ยงวันซึ่งพายุกระหน่ำแรง น้ำท่วมสูงจนเข้าไปในบ้านไม่ได้แล้ว ตอนนั้นตนและสามีคิดว่าถ้าไม่ตายก็ทำงานหาเงินมาซื้อข้าวของเหล่านั้นใหม่ได้ แต่ต้องช่วยชีวิตเพื่อนบ้านไว้ก่อน แต่ก็ยังมีความหวังลึกๆ ว่าบ้านและทรัพย์สินจะไม่เสียหายมากนัก

ส่วนที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัย ศูนย์อนามัยแม่และเด็กที่ 11 ต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีผู้อพยพกว่า 500 คน หลายครอบครัวเป็นฮีโร่ในการช่วยขนย้ายคน แต่ยังไม่รู้ชะตากรรมบ้านและสัตว์เลี้ยงขนตัวเองที่ขนย้ายไม่ทัน จนช่วงเวลากลางคืนที่พายุเริ่มสงบ กลุ่มผู้ชายในหมู่บ้านออกไปสำรวจความเสียหายรอบแรก และพบว่าบ้านของพวกเขาถูกน้ำท่วมและพายุพัดพังเสียหายไปทั้งหลัง ซึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้สำรวจความเสียหายรอบแรกนั้นคือสามีของเธอด้วย

นายกวี ทองแก้ว อายุ 45 ปี สามีของนางนวรัตน์ เล่าว่า ครอบครัวของเขามีพ่อแม่ภรรยาที่อายุมาก และลูกชายลูกสาววัยรุ่นอพยพมาอยู่ที่ศูนย์อย่างปลอดภัย และสัตว์เลี้ยง ได้แก่ นกหัวจุกถูกน้ำท่วมตายหมด สุนัข 3 ตัวและแมว 1 ตัวหนีขึ้นมาอยู่บนหลังคาบ้าน แต่ข้าวของที่เก็บไส่ถุงไว้ รวมทั้งข้าวสารอาหารแห้งที่กักตุนไว้ถูกน้ำท่วมและพายุพัดเสียหาย ผนังบ้านและหลังคาเสียหายกว่า 70% รวมทั้งบ่อปลาที่ใช้เงินเก็บทั้งชีวิตกว่า 1 แสนบ้านมาลงทุนเลี้ยงไว้ยังไม่ถึง 3 เดือนก็เสียหายจนหมด ซึ่งวินาทีที่เห็นภาพบ้าน ตนหมดแรง และคิดอะไรไม่ออกจนถึงตอนนี้ที่ให้สัมภาษณ์อยู่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป รู้แค่ว่าเรื่องนี้จะยังไม่บอกพ่อตาแม่ยาย และภรรยา



บ้านผู้ประสบภัยพายุปาบึก.jpg

แต่สุดท้าย เมื่อพายุผ่านไป นางนวรัตน์ กลับไปสำรวจความเสียหายที่บ้าน เธอเล่าว่า ตอนนั้นกลับร้องไห้ที่ศูนย์อพยพฯ ไม่หยุด เพราะตอนนี้เหลือเงินติดตัวอยู่แค่ 2,000 บาทและเสื้อผ้าอีก 2 ชุด ส่วนลูกๆ ก็เปิดเทอมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. จนมีเพื่อนบ้านที่สามีของเธอช่วยอพยพมาที่ศูนย์ฯ เข้ามากอดและบอกว่า "ถ้าป้ารัตน์ไม่ช่วยพวกเขา บ้านและข้าวของในบ้านป้าก็คงจะไม่เสียหายขนาดนี้"

ตอนนั้นเธอรู้สึกตื้นตันใจและคิดได้ว่าในความโชคร้ายยังมีเรื่องที่น่ายินดี คือ ชีวิตของเธอ ครอบครัว และเพื่อนบ้านที่เธอรักยังปลอดภัย และเธอยอมรับว่าภับพิบัติครั้งนี้คือบทเรียนครั้งสำคัญที่จะสอนให้เธอและคนในหมู่บ้านไม่ประมาทกับภัยพิบัติและคำเตือนของทางราชการ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้เห็นน้ำใจของคนในชุมชน เมื่อเกิดวิกฤติทุกคนก็พร้อมที่จะเป็น 'ฮีโร่' ช่วยเหลือกันและกัน

"เห็นบ้านครั้งแรกก็เหมือนจะช็อก แต่เราก็ทำใจได้ว่าถ้าตัวยังรอดอยู่ก็ไม่เป็นไร สักวันเราจะ...ต้องไม่ตาย ต้องแข็งใจไว้" นายกวีกล่าว

"ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็คงเลือกชาวบ้าน เราอยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง เด็กๆ ทุกคนก็เหมือนลูกเหมือนหลาน ภูมิใจในตัวสามีที่ช่วยเหลือชีวิตเรา ครอบครัว และคนในหมู่บ้าน...พวกเราไม่กลัว พร้อมท ี่จะรับไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน เราจะต่อสู้ไปด้วยกันทั้งครอบครัวแล้วก็หมู่บ้าน ไม่ว่าพายุจะมาใหญ่แค่ไหนก็ต้องสู้ไปด้วยกัน" นางนวรัตน์กล่าว

หลังจากนี้คือการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย โดยนางนวรัตน์ และคนในชุมชน กังวลคือความล่าช้าของการใช้ความช่วยเหลือก่อนสร้างซ่อมแซมบ้าน นอกจากนี้ที่ดินทำกินของเธอและอีกหลายครอบครัวในชุมชนเป็นที่ดินใกล้ป่าชายแลน ไม่มีโฉนด ซึ่งอาจไม่สามารถไปยื่นสิทธิ์ของรับความช่วยเหลือจากทางราชการได้

อย่างไรก็ตาม 'ทีมข่าววอยซ์ ออนไลน์' ได้สัมภาษณ์นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนายจำเริญ ยืนยันว่าทางจังหวัดกำลังเร่งสำรวจความเสียหายและมีหน่วยงานลงพื้นที่ซ่อมแซมถนน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา และบ้านเรือนทุกหลังแล้ว ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายของพื้นที่การเกษตรและที่ดินทำกิน จะเร่งดำเนินการไม่ให้ล่าช้าเหมือนเหตุการณ์พายุโทราจี ที่ อ.นบพิตำ เมื่อปีที่แล้ว และหากชาวบ้านครอบครัวใดไม่มีโฉนดที่ดิน แต่ได้รับความเสียหายจริงก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนมาที่นายอำเภอ เพื่อตรวจสอบและรับความช่วยเหลือได้เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง